Light Up Your Mood แสง: ศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์อารมณ์
Published: 14 May 2025
3 views



เคยสังเกตไหม

ทำไมบางสถานที่จึงทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย

ทำไมอาหารบางร้านดูน่ารับประทานกว่าปกติ ทั้งที่เป็นเมนูธรรมดา

แล้วทำไมการนอนในโรงแรมถึงสบายกว่าบ้านตนเองเสียอีก

องค์ประกอบหนึ่งที่เรามองข้าม และอยู่เบื้องหลังความรู้สึกเหล่านี้ คือ “แสง”

 

แสง: มากกว่าการมองเห็น

    ในทางวิทยาศาสตร์ แสง คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างดวงตาและวัตถุ ช่วยให้เรามองเห็นสี รูปร่าง และรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่แสงไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความสว่างเท่านั้น ในทางจิตวิทยาและสถาปัตยกรรมการออกแบบ แสงยังมีบทบาทสำคัญในสร้างบรรยากาศ กระตุ้นอารมณ์ และกำหนดความรู้สึกของเราในแต่ละขณะ

การออกแบบแสงสว่างจึงมิใช่เพียงแค่การจัดวางหลอดไฟให้เพียงพอต่อการมองเห็น แต่เป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อจิตใจและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งมีหลักการพื้นฐานสำคัญดังนี้

1. ความสว่าง (Illuminance) โดยทั่วไป การออกแบบแสงสว่างต้องคำนึงค่าความส่องสว่างในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ปริมาณแสงเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เหมาะสมกับการใช้งาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ระบบนิเวศ รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น หากห้องทำงานมีแสงสว่างที่จ้าเกินไป อาจทำให้รู้สึกปวดตาและเหนื่อยล้า ในขณะที่หากมีความสว่างที่พอเหมาะ จะช่วยให้ทำงานได้อย่างสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. สีของแสงหรืออุณหภูมิสี (Color Temperature) เป็นค่าที่บ่งบอกโทนสีของแสงจากแหล่งกำเนิดแสงนั้น ๆ ซึ่งสีและความเข้มของแสงมีผลต่ออารมณ์ของพื้นที่อย่างมาก เช่น

  • แสงโทนอุ่น (warm light) ช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ผ่อนคลายเป็นกันเอง เช่น แสงเทียนในร้านอาหาร หรือแสงสีส้มนวลในห้องนั่งเล่นที่ชวนให้รู้สึกสบาย
  • แสงโทนเย็น (Cool Light) ช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นทางการ ตื่นตัว และมีสมาธิ เช่น แสงสีขาวในห้องสมุดที่ช่วยให้มีสมาธิในการอ่าน หรือแสงสีฟ้าอ่อนในสำนักงานที่กระตุ้นให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า

3. ดัชนีการแสดงสี (Color Rendering Index -CRI) ค่าดัชนีสามารถบ่งบอกถึง ความแม่นยำในการแสดงสีของวัตถุภายใต้แหล่งกำเนิดแสง อีกทั้งยังมีผลต่อความสบายตาและลดความเมื่อยล้าทางสายตา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น ห้องเรียน ห้องทำงาน ห้องสมุด

ทั้งนี้การออกแบบแสงสว่างยังต้องพิจารณา ประเภทของพื้นที่และกิจกรรมของผู้ใช้งาน เช่น พื้นที่พักผ่อน ห้องประชุม ร้านอาหาร หรือโรงพยาบาล เพื่อให้การออกแบบสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้งานมากที่สุด

ซึ่ง เจมส์ เบนยา นักออกแบบแสงสว่าง ได้แบ่งเทคนิคการออกแบบแสงในสถาปัตยกรรมเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 

1 การให้แสงเพื่อสร้างบรรยากาศ (Ambient/General Light) เป็นแสงสว่างหลักของพื้นที่ ทำหน้าที่ให้แสงสว่างโดยรวมอย่างนุ่มนวล มักเป็นแสงที่ไม่จ้าจนเกินไปและกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ

luz ambiental 1

แสงบริเวณห้องนั่งเล่น

2) การให้แสงเพื่อการทำงานเฉพาะที่ (Task Lighting) คือการให้ความสว่างเฉพาะจุดหรือกิจกรรมที่ต้องการความละเอียด เช่น โต๊ะอ่านหนังสือ

task lighting

โต๊ะอ่านหนังสือ

ใช้ในร้านอาหารเพื่อให้ลูกค้าสามารถอ่านเมนูได้ชัดเจนขึ้น เห็นสีสันอาหารอย่างชัดเจนขณะรับประทาน


3) การให้แสงที่เน้นส่วนสำคัญ (Focal Light) เป็นการใช้แสงเพื่อดึงดูดสายตาไปยังวัตถุหรือพื้นที่ที่ต้องการเน้น เช่น สปอตไลท์ที่ส่องไปยังภาพวาด งานประติมากรรม หรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

การใช้แสงส่องมายังรูปภาพเพื่อการเน้นให้เห็นรายละเอียดงานศิลป์ที่ชัดขึ้น

4) การให้แสงเพื่อตกแต่งหรือเป็นสื่อบอกเล่าความเป็นอัตลักษณ์ (Decorative Light) เป็นแสงสว่างที่มีบทบาทในการสร้างความสวยงาม เพิ่มลูกเล่น และสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น

ไฟตกแต่งคริสต์มาสและปีใหม่, กรุงเทพ, ประเทศไทย - ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร ภาพสต็อก

การใช้แสงตกแต่งเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันปีใหม่




เมื่อ “แสง” ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมผู้ใช้งานจริง

เพื่อขยายความเข้าใจในประเด็นนี้ ผศ. ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ได้ศึกษาเกี่ยวความสัมพันธ์ของการกระจายแสงกับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน โดยเจาะลึกไปยังพื้นที่จริงในบริบทของโรงแรมและร้านอาหาร

  • The relationship between light distributions in hotel guestroom, emotions, and invention to visit ได้ศึกษาถึงอิทธิพลของการกระจายแสงในห้องพักโรงแรมต่อความรู้สึกของผู้เข้าพักและความตั้งใจที่จะกลับมาใช้บริการอย่างไร
    • ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งและรูปแบบของแสงมีผลโดยตรงต่ออารมณ์และพฤติกรรมของผู้เข้าพัก โดยเฉพาะแสงส่วนบนของห้องที่ช่วยเสริมความรู้สึกโปร่งโล่ง ให้ความเป็นส่วนตัว ส่งผลให้ผู้เข้าพักมีแนวโน้มอยากกลับมาใช้บริการอีกครั้ง
  • Impact of light distributions on emotion and intention to visit a fine dining restaurant ซึ่งขยายการศึกษาไปยังร้านอาหาร โดยเน้นการสำรวจอารมณ์ผู้บริโภคภายใต้สภาพแสงที่ไม่สม่ำเสมอและพิจารณาปัจจัยความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปรับประทานกับครอบครัวหรือคู่รัก พบว่า ผู้บริโภคจะมีการตอบสนองต่อรูปแบบแสงที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และโอกาสในการใช้บริการ เช่น เลือกแสงที่กระจายจากฝ้าเพดานเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเมื่อต้องการบรรยากาศโรแมนติก

ทั้งสองงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า แสงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการมองเห็น แต่ยังสามารถออกแบบเพื่อกระตุ้นอารมณ์ และส่งเสริมพฤติกรรมการตัดสินใจของผู้ใช้งานได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมได้งานวิจัยของ ผศ. ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ เพื่อเข้าใจแนวทางการออกแบบแสงที่ส่งผลต่ออารมณ์และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ได้ที่





แสงกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้และความปลอดภัยในเมือง

ทั้งนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาของแสงยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการเรียนรู้ เช่น การจัดแสงในห้องเรียนหรือห้องสมุดที่มีปริมาณแสงที่เพียงพอและสบายตา ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้

แสงยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยในเวลากลางคืน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดให้กับร้านค้าและสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเน้นย้ำบริบททางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่น ย่านเมืองเก่าหรือแลนด์มาร์ก


รายการอ้างอิง

  1. วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล. (2565). ความหมายและบทบาทศาสตรการออกแบบแสงสว่างในสถาปัตยกรรม. วารสารสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 1(1), 1–15. https://www.arch.chula.ac.th/journal/files/article/z9zNCUhQGASun100922.pdf
  2. สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). คู่มือแนวทางการออกแบบการส่องสว่างภายในอาคาร (Guidelines for Indoor Lighting Design). https://www.tieathai.org/_files/ugd/470409_1c1dd80275e0445d91af87dccd0bd253.pdf
  3. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.). แสง (Light). สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2568, จาก https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/14690
  4. Barangas, K. (2023, October 22). Let there be light: The 4 main types of lighting. Qoncept. https://qoncept.ph/blogs/guide/the-4-main-types-of-lighting
  5. Decento Lighting. (2024, January 15). การออกแบบแสงในสถาปัตยกรรม: แนวทางการออกแบบที่สื่อถึงอารมณ์. https://www.decentolighting.com/an-emotional-design-approach-in-lighting-design
  6. Faro Barcelona. (2024, February 12). Atmosphere light: What it is and how to use it in your professional lighting projects. https://faro.es/en/blog/atmosphere-light/
  7. Nirad. (28 ธันวาคม 2559). ไฟตกแต่งคริสต์มาสและปีใหม่ กรุงเทพ ประเทศไทย [ภาพถ่ายสต็อก]. iStock. https://www.istockphoto.com/th/
  8. Richard, D. (2017, December 29). Making your art shine: Lighting techniques to spotlight your masterpieces. Medium. https://mosaicslab.medium.com/making-your-art-shine-lighting-techniques-to-spotlight-your-masterpieces-16313ba747f7
  9. Tam, G. (2023, October 25). Types of restaurant lighting and what it says about your restaurant. NEOZ. https://www.neoz.com/blogs/neoz-stories/types-of-restaurant-lighting-and-what-it-says-about-your-restaurant



Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...