Light Pollution: เมื่อแสงสว่างกลายเป็นภัยเงียบ
Published: 22 May 2025
1 views


ดวงดาวที่เลือนหาย รวงข้าวที่ไร้ผล นกอพยพที่หลงทิศ

สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างไร..?

พบกับ “มลพิษทางแสง” ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม

แต่กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและโลกของเรามากกว่าที่คิด

 

มลพิษทางแสงคืออะไร?

มลพิษทางแสง (Light Pollution) คือ ภาวะที่แสงประดิษฐ์ถูกใช้อย่างไม่เหมาะสม ทั้งจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงผิดวิธี การให้แสงสว่างเกินความจำเป็น หรือการควบคุมทิศทางและปริมาณแสงที่ไม่ถูกต้อง  

ซึ่งแสงเหล่านี้ต่างสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์และการเจริญเติบโตของเมือง ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งไฟส่องทาง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หรือไฟส่องสว่างตามแนวถนนเพื่อความปลอดภัย ทว่า แสงที่มากเกินไป กลับรบกวนสมดุลของระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์ และส่งผลให้ท้องฟ้ายามค่ำคืน สว่างกว่าที่ควรจะเป็น

“แสงที่ส่องขึ้นฟ้าไม่ได้ทำให้ใครมองเห็นดีขึ้น มันแค่บังดาวและหลอกตานกเท่านั้น" – ดร. อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์


มลภาวะทางแสงเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง?

        มลภาวะทางแสงแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow)

คือปรากฎการณ์ที่แสงประดิษฐ์จากภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นไฟถนน ป้ายโฆษณา หรือไฟจากอาคารต่าง ๆ สะท้อนและกระจายตัวผ่านอนุภาคขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปรากฎเป็นแสงเรืองที่ปกคลุมท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้

ผลกระทบของ Sky Glow ไม่ได้หยุดอยู่แค่การบดบังความงดงามของดวงดาว แต่ยังรบกวนการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และลบเลือนความมืดที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฐจักรธรรมชาติ

ซึ่ง Globe at Night ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2011-2022 ในแต่ละปีท้องฟ้ายามค่ำคืนจะสว่างขึ้น 10% ทำให้ดวงดาวบนท้องฟ้าถูกกลืนหายไปกับแสงไฟ
และในปี 2016 นักดาราศาสตร์รายงานว่า "1 ใน 3 ของประชากรโลกไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าอีกต่อไป"

ไม่ใช่เพราะสายตาของเราแย่ลง แต่เป็นเพราะมลพิษทางแสงที่กำลังกลืนกินโลกของเรามากขึ้นทุกวัน จากการใช้แสงไฟอย่างไม่เหมาะสม

Sky Glow: Closing the Gap Between Differing Views, Part I

ภาพถ่ายที่ Los Angeles ประเทศอเมริกา


2. แสงจ้าบาดตา (Glare)

ภาวะที่แสงจากหลอดไฟหรือโคมไฟส่องสว่างเข้าสู่ดวงตามนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดความไม่สบายตาและลดประสิทธิภาพการมองเห็น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อความปลอดภัยของผู้สัญจรในยามค่ำคืน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ยานพาหนะและคนเดินเท้าที่อาจสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสิ่งกีดขวางหรืออันตรายบนเส้นทาง

Seeing Clearly In Sun Glare


3. แสงรุกล้ำ (Light trespass)

แสงสว่างที่ส่องสว่างไปยังบริเวณอื่นโดยที่เจ้าของบริเวณนั้นไม่ต้องการ เช่น แสงไฟจากบ้านข้างเคียงที่ส่องเข้ามาในห้องนอน หรือ แสงจากไฟถนน ป้ายโฆษณาที่รบกวนบริเวณที่พักอาศัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง

Brick Introduces Ordinance to Curtail 'Light Trespass' Between Properties –  Brick, NJ Shorebeat — News, Real Estate, Events, Community, Sports, Business

แสงที่ติดตั้งอย่างไม่เหมาะสม จนสว่างรุกล้ำไปบริเวณอื่น


การประท้วงจากผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณา LED

 รูปจาก https://thematter.co/social/thonglor-led-billboard-light-pollution/164475


กรณีศึกษา : ย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากป้าย LED ขนาดใหญ่ ซึ่งสว่างจ้าและกระพริบตลอดคืน จนผู้อยู่อาศัยนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ นำไปสู่การเกิดภาวะเครียดสะสม

 "เราแค่ต้องวิถีชีวิตเดิมของเราคืน ชีวิตที่ไม่ต้องมาคอยหลบภัยจากแสงสว่างที่เราไม่ต้องการ ชีวิตที่พ่อแม่เรา คนในครอบครัวเรา ได้นอนหลับเป็นปกติ และไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะอาการปวดหัวประหลาดที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น"

คำกล่าวจากเจี๊ยบ ตัวแทนชาวชุมชน ที่ได้รับผลกระทบของแสงจากป้ายโฆษณา LED ขนาดใหญ่ที่ฉายแสงลงมายังที่พักอาศัยของเธอในทุกวัน (อ้างอิง: MRG Online, 4 ธ.ค. 2564)



ผลกระทบที่คุณอาจไม่เคยรู้

ระบบนิเวศ

แสง เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควบคุมจังหวะชีวิตของสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดบนโลก วงจรชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์และพืชต่างดำเนินไปตามวัฐจักร 24 ชั่วโมงของมัน โดยอิงจากแสงธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งจากแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แต่เมื่อโลกถูกปกคลุมด้วยแสงประดิษฐ์ที่มากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนาฬิกาชีวภาพและพฤติกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น การหาอาหาร การอพยพ การผสมพันธุ์


นกบินชนกระจก” เมื่อนกตกเพราะหน้าต่าง กับ 5 ทางรอดของ “นก” หลายล้านตัว

นกอพยพและผีเสื้อกลางคืน ซึ่งอาศัยแสงธรรมชาติในการนำทาง แต่เมื่อมีแสงประดิษฐ์มากเกินไป จึงทำให้พวกมันสับสน กลับรังไม่ถูก หรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น บินชนกระจกหรือเสาไฟ


ลูกเต่าทะเลที่เมื่อฟักออกจากไข่ โดยปกติจะพึ่งพาแสงอาทิตย์เป็นเข็มทิศนำทางสู่มหาสมุทร แต่เมื่อชายหาดนั้นมีแสงไฟจากรีสอร์ทหรือบ้านเรือนที่มากเกินไป จึงทำให้ลูกเต่าหลงทิศ เดินขึ้นฝั่งแทนลงทะเล ส่งผลให้เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ตกเป็นเหยื่อของนักล่า และถูกรถชนจนเสียชีวิต


ข้าวที่ปลูกใกล้แสงไฟริมถนนไม่ออกรวงแม้จะได้รับน้ำและธาตุอาหารครบถ้วน

ที่หมู่ 9 ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง


สุขภาพของมนุษย์

เช่นเดียวกับสัตว์และพืช มลภาวะทางแสงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์เช่นกัน โดยปกติ ร่างกายของมนุษย์ จะหลั่งฮอร์โมนเมโลโทนินออกมาตอนกลางคืน เพื่อให้รู้สึกง่วง เตรียมพร้อมสำหรับการนอนหลับ แต่ตอนกลางคืนหากเราได้รับแสงประดิษฐ์ แสงสีฟ้า จะส่งผลให้ร่างกายยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ทำให้ร่างกายตื่นตัว นอนไม่หลับ และยิ่งนานวันเข้า จะกลายเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาว

อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน




แนวทางการแก้ไขมลภาวะทางแสง

แนวทางสำหรับนักออกแบบแสงและผู้เกี่ยวข้อง

  • เลือกใช้ โคมไฟที่ควบคุมทิศทางของแสง ไม่ให้กระจายออกนอกพื้นที่ใช้งาน
  • ลดความเข้มของแสง ในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น
  • ใช้ ระบบควบคุมอัตโนมัติ เช่น ไฟเปิด-ปิดตามเวลา หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว
  • เลือกหลอดไฟที่มีค่า CCT (Correlated Color Temperature) ต่ำกว่า 3000K เพื่อให้แสงนวลตาและลดการรบกวนสัตว์


การให้ความรู้และออกกฎหมาย

  • ให้ความรู้เจ้าหน้าที่รัฐ นักออกแบบแสง ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป
  • ผลักดัน กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมมลพิษทางแสง เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดแสงในพื้นที่สาธารณะและชุมชน


ซึ่งหลายประเทศได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมและผังเมืองเพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษทางแสง เช่น ประเทศอเมริกา ที่กำหนดให้บ้านเรือนติดตั้งโคมไฟที่มีโล่ไฟเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแสงเรืองไปยังท้องฟ้า หรือในประเทศญี่ปุ่นที่กำหนดให้เมืองไบเซอิเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษทางแสง เพื่อศึกษาและวิจัยด้านดาราศาสตร์โดยเฉพาะ เช่น ให้ประชาชนปิดไฟนอกบ้านในเวลา 22 นาฬิกา

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมมลพิษทางแสงโดยตรง แต่มีมาตรฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสง เช่น ป้ายไฟฟ้า โดยมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้อำนาจในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการควบคุมมลพิษทางแสงจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ และสามารถกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองมลภาวะทางแสงได้
  • พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการสั่งระงับหรือแก้ไขปัญหาจากแสงสว่างที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน
  • มาตรการในระดับท้องถิ่นและพื้นที่เฉพาะ
    • อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีแนวทางลดมลพิษทางแสงเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า
    • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ มีการควบคุมแสงไฟรอบพื้นที่เพื่อไม่ให้รบกวนการดูดาว




แม้ "มลพิษทางแสง" จะเป็นภัยที่ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น

แต่กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์

เราจึงควรตระหนักและเรียนรู้การใช้แสงอย่างพอดีและเหมาะสม

เพื่อคืนความมืดให้กับท้องฟ้าและสมดุลให้กับโลกอีกครั้ง





รายการอ้างอิง

1. กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2 มิถุนายน 2023). นับถอยหลัง 20 ปี มองฟ้าไม่เห็นดาว เหตุ ‘มลพิษทางแสง’. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/environment/1071576

2. กฤตพล สุธีภัทรกุล. (28 กุมภาพันธ์ 2024). ‘มลพิษทางแสง’ ใกล้ถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ กระทบสิ่งมีชีวิตทั่วโลก. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/environment/1115317

3. ณภัทรดนัย. (11 มกราคม 2023). มลภาวะทางแสง มีอะไรบ้าง และส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร. National Geographic Thailand. https://ngthai.com/science/46187/light-pollution/

4. ปีดิเทพ อยู่ยืนยง. (2555). กฎหมายสิ่งแวดล้อมและผังเมืองสำหรับการควบคุมมลพิษทางแสง. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร (สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ), 32(2), 167–185. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sujthai/article/view/7117/6142

5. พชรดนัย ปาณธูป. (2559). มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษทางแสงจากป้ายไฟฟ้า (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5601034647_5600_6362.pdf

6. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). (2019). มลพิษทางแสง: ความรู้เบื้องต้นและแนวทางการป้องกัน [E-book]. https://old.narit.or.th/images/07_%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/pdf/e-book/2020-1-9/Booklet_light_polution_2019_2.pdf

7. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). (n.d.). มลภาวะทางแสง. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด. https://darksky.narit.or.th/มลภาวะทางแสง/

8. MRG Online. (4 ธันวาคม 2021). “มลพิษทางแสง” ป้ายโฆษณา LED รุกล้ำที่พักอาศัยย่านทองหล่อ ข้องใจ จนท.ยันผิดแต่ยังไม่ถูกรื้อ. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000120284

9. MRG Online. (26 ธันวาคม 2021). “ทนไม่ไหว” ผู้เดือดร้อนป้าย LED ยักษ์ซอยทองหล่อ ขึ้นป้ายประจาน เหตุ “เขตวัฒนา” ไม่ดำเนินการ. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000127742

10. Twilight. (n.d.). มลภาวะทางแสง: ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอย่างไร?https://tvilight.com/th/

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...