Learning Exchange (LX) : แลนด์มาร์กแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ของมจธ.
รูปจาก https://www.bkk.social/topic/950592
ทุกสถานที่ต่างมีเรื่องราว ความทรงจำ และความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการสร้าง
เช่นเดียวกับอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (Learning Exchange)
ที่ไม่ได้มีเพียงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น
แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต (Living Lab)
เมื่อโลกของการเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดแค่ในห้องเรียน ความรู้ไม่หยุดอยู่แค่ในตำรา.. สภาพแวดล้อมจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ ทั้งพื้นที่ทางกายภาพที่ออกแบบมาเพื่อผู้เรียน อาทิ พื้นที่สีเขียวที่ช่วยผ่อนคลายและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัด และสังคมที่เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการรับรู้ การคิด และการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทั้งสิ้น
"เพื่อให้การเรียนรู้สามารถกระจายเข้าถึงทุกคน ทุกช่วงวัย นำความรู้ไปทำงานได้จริง และตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของ มจธ. จะเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้"
คำกล่าวของ ศ. ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (bangkokbiznews, 2023) ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ยุคใหม่
อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (Learning Exchange) หรือที่ใครหลายคนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “ตึกLX” เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Micro Credential (MC) หรือการสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ระยะสั้น ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. ส่งเสริมการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์
ตึก LX อาคารสูง 15 ชั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและบุคลากรจากหลากหลายสาขาวิชามีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น อาทิ ชั้น 1-4 ที่มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ งานนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาหรือบุคลากรสามารถเข้าร่วมได้ หรือโซนทำงานวิจัยที่นักวิจัยทุกศาสตร์ ทุกสาขาสามารถมาทำงานวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่
ความรู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อจากนักวิจัยสู่ผู้เรียน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญ ขณะเดียวกัน ความรู้และประสบการณ์จากผู้เรียน จะถูกหมุนเวียนกลับไปยังนักวิจัยเพื่อพัฒนาและค้นคว้าเพิ่มเติม เกิดเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน และบูรณาการองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ” (Learning Exchange)
2. การเป็นต้นแบบอาคารเขียว (Green Building)
อาคารเขียว (Green Building) เป็นแนวคิดการออกแบบอาคารที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งตึก LX เป็นอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างตามหลักเกณฑ์ของอาคารเขียว (Green Building) อาทิ อาคารอยู่ในสถานที่เหมาะสม พื้นที่รับรังสีจากดวงอาทิตย์น้อยกว่า 50% มีการออกแบบพื้นที่ซึมน้ำ ใช้วัสดุที่ลดมลพิษในการก่อสร้าง และการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) แทนระบบส่องสว่างในอาคาร
รูปจาก https://www.lib.kmutt.ac.th/water-proof/
จากรูปข้างต้น Grass Box มีการเลือกใช้วัสดุปูพื้นมีพื้นหญ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นผิว แผ่นปูพื้นมีการเว้นร่องระหว่างแผ่น มีช่องหรือรูให้น้ำซึมผ่านลงสู่ดินได้เพื่อลดอัตราการเกิดน้ำท่วม (สำนักหอสมุด มจธ, ม.ป.ป.)
โดยตึก LX ผ่านการตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย TREES-NC ในระดับ PLATINUM
ตึก LX ถือเป็นอาคารเขียวแห่งแรกของ มจธ.
อีกทั้งยังเป็นต้นแบบสำหรับการก่อสร้างอาคารเขียวในอนาคตของมหาวิทยาลัย
3. เป็นพื้นที่ที่สามารถเรียนรู้ได้
และแนวคิดสุดท้ายคือการทำให้ทุกพื้นที่ของอาคารกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงาน การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ ที่ไม่เพียงช่วยให้อากาศถ่ายเทแต่ยังเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาได้เรียนรู้หลักการไหลเวียนของอากาศ
LX จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ สังเกต ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ดังที่กล่าวมาข้างต้น อาคาร LX จึงถือเป็นก้าวสำคัญของ มจธ. ในการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต (Living labs) และทำให้ทุกพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้
นี่คือเรื่องราวของอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX)
แลนด์มาร์กแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ของ มจธ.
แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปพร้อมกัน☺☺☺
ข้อมูลอ้างอิง
1. มจธ. สร้างทุกพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สู่ Learning Innovation. (12 ตุลาคม 2563). Bangkokbiznews. https://www.bangkokbiznews.com/social/902147
2. อาคาร LX (Learning Exchange) จุดเปลี่ยน มจธ. พลิกโฉมการเรียนรู้รูปแบบใหม่. (13 ตุลาคม 2563). campus-star. https://campus.campus-star.com/view/144466.html
3. สำนักหอสมุด. (ม.ป.ป.) ระบบระบายอากาศภายในอาคาร.
lib.kmutt https://www.lib.kmutt.ac.th/ventilation-system/
4. สำนักหอสมุด. (ม.ป.ป) LX Building
lib.kmutt https://www.lib.kmutt.ac.th/lx-building/
5. สำนักหอสมุด. (ม.ป.ป) เกณฑ์อาคารเขียว
lib.kmutt https://www.lib.kmutt.ac.th/green-building/
6. สำนักหอสมุด. (ม.ป.ป) พื้นที่ซึมน้ำและลดน้ำท่วม
lib.kmutt https://www.lib.kmutt.ac.th/water-proof/
7. Knightfrank. (17 มิถุนายน 2567). 3 มาตรฐานอาคารเขียวที่ควรรู้ อาคารเขียวคืออะไร.
Categories
Hashtags