เอกอุทางภาษา
Published: 5 July 2023
5 views

ในระหว่างปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แนวทางของภาษาและหนังสือเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องวัดสมอราย ตอนหนึ่ง 

"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มศึกษาอักขรสมัย ณ สำนักวัดท้ายตลาด พร้อมด้วยเจ้านาย ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันยังดำรงพระเกียรติยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ ๗ เดือน ทรงเริ่มเรียนอักขรสมัยในฝ่ายภาษาบาลีมาแต่ก่อนทรงผนวชเณร ครั้นเมื่อทรงผนวชก็เป็นโอกาสที่ได้ทรงเล่าเรียนมากขึ้นโดยลำดับจนลาผนวชมาแล้วก็ยังเสด็จไปเรียนต่อที่หอพระมณเฑียรธรรม พร้อมกันไปกับทรงเรียนศิลปศาสตร์ ทรงปืนที่โรงแสง แลทรงช้างทรงม้าในสำนักเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเอง"

(ในสมัยรัชกาลที่ 1 เรียกว่า วัดท้ายตลาด สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงขนานนามใหม่เรียกว่า วัดพุทไธศวรรย์ และในรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนเป็นวัดโมลีโลกสุธาราม ปัจจุบันเป็นวัดโมลีโลกยาราม)

จากพระราชนิพนธ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มเรียนอักขรสมัยในฝ่ายบาลีมาตั้งแต่ทรงผนวชเณร แม้ทรงลาสิกขาแล้วก็ยังทรงเรียนต่อ ในหนังสือเจ้าฟ้าจุฑามณี ของโสมทัศน์ เทเวศร์ ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในการศึกษาแบบแผนของชาวตะวันตก สมัยพระองค์จำเป็นต้องเริ่มเรียนจากการเรียนภาษาอังกฤษก่อน และตำราส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงเล่าถึงไว้ในหนังสือ "ความทรงจำ" ตอนหนึ่งว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษพิเคราะห์ในพงศาวดารแล้วเห็นว่า น่าจะเป็นเพราะทรงปรารภถึงการบ้านเมือง ตั้งแต่จีนรบแพ้อังกฤษ...เมื่อพ.ศ. 2375 แม้คนไทยส่วนใหญ่จะเชื่อคนจีนว่า คนจีนแพ้สงครามเพราะไม่ทันได้เตรียมตัว แต่ในพระราชหัตถเลขาของพระองค์สะท้อนพระดำริเห็นได้ว่า ถึงคราวโลกยวิสัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้ และประเทศสยามอาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า จึงเริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษ โดยมีมิสเตอร์แคสเวล (หมอหัศกัน) มิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้สอนถวาย ทรงศึกษาจนสามารถอ่านเขียนและตรัสภาษาอังกฤษได้สะดวก อีกทั้งมีหลักฐานปรากฏที่เซอร์เจมส์บรู๊คเป็นทูตเข้ามาเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 3 เป็นทูตจึงมีหนังสือที่มีไปมากับไทยใช้ภาษาอังกฤษและข้างฝ่ายไทยไม่มีผู้ชำนาญการภาษาอังกฤษ ต้องอาศัยมิชชันนารีที่ไม่รู้ภาษาไทยเข้ามาช่วย อีกทั้งต้องส่งไปถวายรัชกาลที่ 4 ที่ทรงปรีชาทั้งในทางไทยและอังกฤษให้ทรงตรวจทุกฉบับ  

การค้นพบศิลาจารึกเป็นเหตุหนึ่งทางเอกอุทางภาษา

เมื่อขณะยังทรงผนวชได้เสด็จจารึกหรือเสด็จธุดงค์ไปในหัวเมืองต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี เป็นเหตุให้ทรงพบศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ซึ่งจารึกด้วยอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงและทรงเพียรพยายามอ่านจารึกดังกล่าวจนรู้เรื่องดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พระองค์จึงทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกคนแรกของไทยด้วย (สาระ มีผลกิจ, 2555) สำหรับภาษาละตินและฝรั่งเศส ทรงศึกษากับสังฆราชปัลลเอกัวส์บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เจ้าอธิการวัดคอนเซปชั่น ใกล้กับวัดราชาธิวาส เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช ด้วยพระปรีชาหลายภาษา พระองค์จึงพระปรีชาประดิษฐ์ตัวอักษรแบบใหม่เพื่อจัดพิมพ์หนังสือทางพุทธศาสนาโดยพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยครั้งแรกและฉบับแรกเมื่อพ.ศ. 2436

เมื่อครั้งขึ้นครองราชย์แล้วจึงปรากฏคาถราตั้งชื่อพระนามพระราชธิดาและพระราชโอรสดังที่กล่าวในงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

Hashtags

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...