เรื่องน่ารู้ของงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม"
Published: 23 August 2023
0 views

เรื่องน่ารู้ของงานเสวนา

"พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก :

Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม"

งานเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เนื่องจาก มจธ. นั้นมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นสำคัญ (Core Science&Tech) จึงทำให้เป็นที่สงสัยใคร่รู้ต่อคณะผู้ริเริ่มงานในมิติด้านประวัติศาสตร์ของ มจธ.เป็นอย่างมาก ว่าจะมีผู้สนใจมากน้อยเพียงใด ผู้เข้าร่วมจะได้รับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 เพียงพอหรือไม่

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2349 ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ขณะมีพระชนมายุ 47 พรรษา ซึ่งพระองค์ได้บรรพชาอยู่นานถึง 27 ปี และขณะเป็นพระภิกษุนั้น พระองค์ได้เดินทางศึกษาหาความรู้แตกฉานในภาษาต่างๆ อย่างรอบด้าน ทำให้เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วได้นำความรู้มาพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยเกิดการริเริ่มหลายอย่าง ทั้งระบบเงินตรา ประกาศราชกิจจานุเบกษา การทำนุบำรุงสถาปัตยกรรมในวัดวาอาราม ฯ แต่พสกนิกรไทยส่วนใหญ่ มักจะนึกถึงพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ อำเภอ หว้ากอ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ ในปี พ.ศ. 2411 และเบื้องลึกในกระแสพระราชดำริของพระองค์ท่าน ถือว่า "ทันสมัย" สะท้อนให้คนสยามได้ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ หรือที่คนในสมัยนี้เรียกกันว่า "Disrupt" ซึ่งคำนี้ผู้เขียนเองคิดว่า เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ของเรา

ดังนั้น เราควรจะมารู้จักพระจอมเกล้าฯ ในมิติที่เรายังไม่รู้จักกัน ในงานเสวนาครั้งนี้

เรื่องน่ารู้ที่จะนำมายกตัวอย่าง เช่น

เรื่องของพระมหาพิชัยมงกุฎ

ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า แบบจำลองมีจัดเก็บอยู่ที่ หอบรรณสารสนเทศ ชั้น 2 สำนักหอสมุด มจธ.

พระมหาพิชัยมงกุฎจริง​ มีน้ำหนักถึง 7.3 กิโลกรัม เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์​ อันหมายถึง เครื่องเคราประกอบพระราชอิสริยยศ​ของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นมหา​กษัตริย์​พระองค์​แรกที่ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎจริง ก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ 1-3 พระมหาพิชัยมงกุฎเพียงแค่รับและวางเคียง บางรัชสมัยอาจจะทรงสวมพระชฎามหากฐิน​ 5 ยอด เพื่อทรงสวมสลับแทนเพราะน้ำหนักเบากว่า (สังเกตได้จากขนนกการะเวกประดับ ร.6 ทรงอยู่)​ นับว่า เป็นครั้งแรกของการสำแดง พระบรมเดชานุภาพ​เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลกได้พิศเห็นทางกายภาพอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ผ่าน "กล้อง" ทั้งนี้เริ่มมีกล้องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และเริ่มแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 4 (อ่านต่อได้ที่ นิทรรศการออนไลน์ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4)

เรื่องของพระพุทธรูปชื่อดัง "พระพุทธ​นิรันตราย" 

ความหมายว่า ความ​อันตราย​ไม่มี​เป็น​นิรันดร์​ องค์​จริงเป็นพระพุทธ​รูปทองคำ สมัยทวาราวดี​ ขุดเจอ 2 องค์ อีกองค์เป็นโลหะ จากเมืองศรีมโหสถ​ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2399 กำนันอิน และลูกชาย ขุดหามันนกที่บริเวณชายป่า แล้วพบที่ปราจีนบุรี​ จึงนำให้ปลัดเมืองฉะเชิงเทราและนำทูลเกล้าฯ​ถวาย ร.4 วันหนึ่งมีขโมยขึ้นพระตำหนัก พระโลหะหาย แต่พระทองคำอยู่ จึงทรงพระราชทานนามว่า "นิรันตราย"​ และสร้างพระพุทธรูป​ครอบพร้อมซุ้มโพธิ์พฤกษ์​ เป็นต้นฉบับ ก่อนจะพระราชทานไว้ ณ วัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย 18 วัด ทั่วพระราชอาณาจักร​จวบจนถึงปัจจุบัน​

ทั้งหมดนี้รับชมออนไลน์ผ่าน Facebook Live "KMUTT" Fanpage ได้ในเวลา 10.00-12.00 น.

อีกทั้งสามารถเข้ามาฟังได้ด้วยตนเองที่งานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก" ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ชั้น 3 ห้อง Auditorium อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (Learning Exchange: LX) อาคาร N16 หรือรับชมย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/KMUTT/videos/1222316338388495

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...