เราจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปทำไม
Published: 5 July 2023
11 views

คนเรียนวิทย์ รู้ศิลป์เป็นคนมีเสน่ห์ คำกล่าวนี้เป็นคำพูดของ อ.สาระ ที่ตัดมาเป็นข้อความเชิญชวนในการเสวนาครั้งที่ 1 พระจอมเกล้าในมิติที่คุณไม่รู้จัก ฯ โดยอาจารย์สื่อข้อความนี้ออกมาเพื่อให้รู้ว่านักศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี ที่มีความรู้เฉพาะทาง หากเป็นคนที่รู้ในศิลปวิทยา สังคมศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ประวัติศาสตร์ก็ด้วย จะทำให้เป็นคนที่น่าสนใจมากขึ้น เพราะทางสายสังคมศาสตร์เป็นสายการเรียนรู้ที่มีเนื้อหากว้างด้วยการศึกษาในการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้คนที่อยู่รวมกันในสังคม ดังนั้น หากเป็นคนที่มีทั้งความรู้ที่เฉพาะทางและกว้างขวางจะทำให้เป็นคนที่รู้อะไรแบบรู้ลึก รู้จริง รับรู้ในข้อเท็จจริงและหาที่มาที่ไปของข้อเท็จจริงเหล่านั้น คำนึงถึงผลกระทบสภาพแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นอกจากความเสน่หาแล้ว มาดูความสำคัญของประวัติศาสตร์ในแง่ของการรักษาความเป็นหลักฐานกัน

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอกล่าวถึงความเป็นมาทางด้านศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการร้อยเรียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอย่างศาสตร์จดหมายเหตุ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "จดหมายเหตุ" ไว้ดังนี้

  1. หนังสือบอกข่าวคราวที่เป็นไป
  2. รายงานหรือบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  3. เอกสารที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานและเครื่องมือในการปฏิบัติงาน


จะเห็นได้ว่า หนังสือ ในความหมายของข้อ 1 มีความทับซ้อนกันระหว่างคำว่า "หนังสือ" ที่เป็นสารสนเทศที่ให้เนื้อหาหรือความรู้ กับ "หนังสือ" ที่หมายถึงเอกสารการทำงานในส่วนของราชการหรือเอกชนที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน จึงทำให้ต้องใช้ความหมายของข้อ 3 ร่วมด้วย โดยในข้อ 2 นั้น คือการนำสิ่งที่เป็นข้อ 3 มารวบรวมและเรียบเรียงใหม่เป็นรายงานประจำปีของหน่วยงานหรือบันทึกเหตุการณ์ประจำปี จึงสรุปได้ว่า จดหมายเหตุเป็นสิ่งที่ไมไ่ด้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสารสนเทศให้ความรู้ แต่เกิดขึ้นมาจากหลักฐานการดำเนินงาน เช่น เอกสารขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย เอกสารขอใช้นาม"พระจอมเกล้า" เป็นนามมหาวิทยาลัย บันทึกข้อความภายนอกเชิญพระสังฆราชมาเปิดป้ายมหาวิทยาลัย ฯ เมื่อเอกสารเหล่านั้นไม่ได้ใช้งานแล้วแต่มีคุณค่าความเป็นหลักฐานจึงเก็บไว้อยู่ และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มีความต้องการในการรวบรวมประวัติของมหาวิทยาลัยจึงต้องย้อนไปที่หลักฐานซึ่งเอกสารเหล่านั้นเป็นส่วนแสดงหลักฐานได้อย่างชัดเจน ทั้งวันที่ วัตถุประสงค์ของการออกเอกสาร บุคคลที่ปรากฏในเอกสาร ดังนั้น เมื่อนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวจึงถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้

ดังนั้นจึงสอดคล้องกับในพระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. 2556 ที่ให้ความหมายไว้ว่า "เอกสารจดหมายเหตุ" คือ เอกสารที่สิ้นกระแสการใช้งานและได้รับการประเมินคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์ของชาติ และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า หรือการวิจัย

เมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นได้ว่า จดหมายเหตุ มีคุณค่าในสองมิติ คือ คุณค่าในความเป็นหลักฐาน เช่น การที่เราไปซื้อของและต้องเก็บใบเสร็จไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราได้ซื้อของชิ้นนั้นและจ่ายเงินแล้วจริง กับ คุณค่าในความเป็นประวัติศาสตร์ (ยกตัวอย่างแบบง่าย) - เมื่อกาลเวลาผ่านไป หากเรากลายเป็นบุคคลสำคัญอาจจะมีคนมาศึกษาเรื่องราวของเรา แล้วสะท้อนเหตุการณ์จริงจากใบเสร็จรับเงินของเราว่า เราซื้อของอะไรไว้บ้าง เราน่าจะเป็นคนที่มีความสนใจในด้านใด นั่นคือมิติของคุณค่าในการศึกษาค้นคว้าเพื่อการทำประวัติศาสตร์

ความเป็นมาของจดหมายเหตุในประเทศไทยต้องบอกว่าจากการศึกษา ต่างจากมิติของโลกตะวันตกทางฝั่งยุโรปโดยสิ้นเชิง เพราะทางยุโรปดำเนินงานด้วยพื้นฐานของเอกสารเป็นหลัก เช่น การเดินเรือสินค้าและล่าอาณานิคมด้วย การส่งจดหมายบอกเล่าถึงสิ่งที่ค้นพบใหม่ มีการดำเนินเอกสารสัญญาต่าง ๆ เพื่อซื้อขายสินค้า ส่งจดหมายถึงกัน และธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาษีอากร จึงทำให้ช่วงการล่าอาณานิคมจากการเดินเรือเกิดเอกสารการดำเนินงานต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเป็นหลักฐานการทำงานที่ต้องเก็บไว้ มีความแท้จริงในตัวเอง แต่ในประเทศไทยเราเริ่มจากการทำงานตามใบบอก เดิมก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยเรายังไม่มีประกาศคำสั่งที่เราเรียกว่า ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเราใช้คำสั่งในการทำงานด้วย ใบบอก ให้ม้าเร็ว วิ่งไป แล้วแจ้งข้อความสั้น ๆ ให้ดำเนินการ สิ่งนั้นคือสิ่งสะท้อนหลักฐานการทำงาน และประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ด้วยการจดบันทึกที่เราเรียกว่า พงศาวดาร ความแท้จริงจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติและความครบครันของผู้จดบันทึกถ้าอาลักษณ์ไม่ได้บันทึกเรื่องใดไว้ เรื่องนั้นก็จะไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ต้องย้อนไปที่ใบบอกว่ามีคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ เก็บไว้หรือไม่

ดังที่เล่าความเป็นมานี้ เพื่อที่จะชี้นำว่า จดหมายเหตุ กับ การบันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของไทยอาจจะไม่ได้ถูกร้อยเรียงมาด้วยกัน เราใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นตัวตั้งต้นแล้วใช้จดหมายเหตุเป็นเครื่องมือยืนยัน จึงทำให้สารสนเทศทางประวัติศาสตร์บ้านเรา อย่างหนังสือ หรือเรื่องราวเกิดขึ้นมามากมาย มีจุดแตกต่างกันและยืนยันด้วยข้อเท็จจริงไม่ได้ครบถ้วน แต่ในทางกลับกันเราสามารถใช้จดหมายเหตุเป็นตัวเริ่มต้นแล้วค่อยร้อยเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน

ในทัศนคติของผู้เขียนคิดว่า รัชกาลที่ 4 มีพระดำริที่เห็นความสำคัญต่อการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่อยากให้สูญหายไปจึงรวบรวมพงศาวดาร ใบบอกต่าง ๆ แล้วเก็บไว้ในหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีตำราต่าง ๆ ที่ให้ความรู้เก็บอยู่ด้วย เราจึงมีกรอบความคิดของสารสนเทศอย่างหนังสือที่ให้ความรู้รวมอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อเรามีจดหมายเหตุกับประวัติศาสตร์ผ่านการบันทึกเรื่องราว พัฒนามาร่วมกัน แต่หากเราสามารถที่จะเข้าใจมิติคุณค่าความเป็นหลักฐาน และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจดหมายเหตุได้ จะทำให้เรามีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าเชื่อถือได้ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนเป็นของตัวเองไม่ต้องขัดแย้งกับใคร ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องราวเหล่านั้นได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อมาถึงตอนนี้แล้วผู้อ่านจะเข้าใจได้ว่า เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปทำไม

ข้อมูลอ้างอิง

What is Past is Prologue: A History of Archival Ideas Since 1898, and the Future Paradigm Shift | Archivaria

finearts.go.th/literatureandhistory/view/23279-หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...