เพื่อนคู่คิด
Published: 23 August 2023
2 views

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแก่พระอนุชา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2394 การขึ้นครองราชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “พระเจ้าแผ่นดินที่สอง” เป็นที่พึงพอใจและชื่นชมยินดีอย่างมากของพสกนิกรในแผ่นดินและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งข่าวไปยังสิงคโปร์ว่าการเปลี่ยนรัชกาล ในวันที่ 2 เมษายน เป็นไปด้วยความสงบ เจ้านาย ขุนนาง ประชาชนไทยพอใจในพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ หนังสือพิมพ์ “สเตรทส์ ไทม์” (Straits Times) ที่สิงคโปร์ลงข่าวว่า “.. การเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหวังอันยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวสยามเป็นที่น่าสนใจ แต่ประชาชาติภายนอก..” (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2548 : 18)

ดังนั้น จึงเปรียบได้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมีเพื่อนคู่คิด คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  น้องชายของท่าน เป็นบุคคลสองคนแรก ๆ ของประเทศสยามและในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ มีความเข้าใจลึกซึ้งในชาติมหาอำนาจ ด้วยสภาพการเมืองและข้อสังเกตในบ้านเมืองขณะนั้นอาจมีภัยจากจักรวรรดินิยม ซึ่งแย่งชิงและครอบครองแผ่นดินประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดประเทศไทย และพยายามที่จะรุกรานอธิปไตยของประเทศไทย หากพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงมีความรอบรู้และความเข้าใจในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศอาจเกิดเป็นปัญหาของประเทศได้ ถือได้ว่าทั้งสองท่านมีแนวคิด “คุณจะรู้จักเขา คุณจะต่อสู้กับเขา คุณต้องรู้จักกับเขาก่อน” เพราะฉะนั้น จึงทรงชอบภาษาอังกฤษ ตรัสภาษาอังกฤษ โดยสิ่งที่สะท้อนความชื่นชอบภาษาอังกฤษกับกระแสวิสัยทัศน์นี้ คือการที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอรสพระองค์หนึ่ง มีชื่อว่าพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนพระนามใหม่เป็น พระเจ้าราชวงศ์เธอพระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน ใช้ชื่อประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นชื่อลูกของท่าน นี่คือการที่ต้องการการสร้างความเป็นมิตรระหว่างชาติตะวันตก

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ) พระราชโอรสองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ้างอิง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สำนักหอสมุด, วรจิตติ์ ปิยะภาณี, นิตยา บุญปริตร, & ลดาวัลย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา. (2548). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...