แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เราเดินทางไปในวันที่ 8 พ.ย. 67 ซึ่งเป็นวันเดินทางกลับแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องเร่งรีบกันพอสมควรสำหรับการเดินทางไป การแวะกินข้าว และการรับชม
Science Center Singapore
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มีสื่อ Interactive ทั้งแบบในร่ม กลางแจ้ง เหมาะสำหรับทุกวัยโดยเฉพาะวัยประถมศึกษา อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Jurong East เดินต่ออีกประมาณ 15 นาที ภายใน Sci Center มีอาหารให้ซื้อและนั่งรับประทาน
ครั้งนี้ที่เราตั้งใจซื้อบัตรเข้าไปจะเป็นการร่วมกิจกรรม ห้อง Escape Room เพิ่งเปิดให้บริการใหม่ มีวันละ 2 รอบ รอบ 10.15 และ 11.30 กติกาการเข้าในห้อง Escape Room นั้น ไม่สามารถให้พกมือถือเข้าไป จะต้องอยู่ในห้องนั้นเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เล่นอย่างน้อย 3 คน อย่างมากไม่เกิน 6 คน ก่อนเข้าไปในห้องต้องรับชมวิดีโอแจ้งกติกาการเข้าชมห้ามแตะต้องอะไรบ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง มีการปูพื้นเนื้อเรื่อง Dr.X ให้เรารับรู้ก่อน มีเพื่อนที่จะต้องถูกจับตัว 1 คน แล้วเราจะต้องช่วยเพื่อนออกมา โดยมีโอกาสสื่อสารกับเพื่อนได้เล็กน้อยในบางด่าน ในภาพรวมมีการแบ่งโซนพื้นที่แคบแต่ถูกวัตถุประสงค์ได้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้เหลี่ยมมุมเพื่อสื่อสาร ดูกล้อง เห็นถึงความร่วมมือกันในทีม มีการใช้ซาวด์ประกอบเพิ่มความสมจริง ใช้กล้องวิดีทัศน์ ใช้อินเตอร์โฟน ใช้สัญญาณวิทยุเพื่อขอตัวช่วยใน 5 ครั้งได้ ใช้ทักษะการสังเกต ความรอบคอบ ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์ทั้งการสังเกต การใช้แลปเทสนิด ๆ การใช้ภาพซ้อนกับสี เป็นต้น
เท่าที่สังเกตผลการให้ Feedback ของผู้เข้าร่วม มีหลายกลุ่มออกมาไม่ได้ภายใน 1 ชั่วโมง...
สำหรับพื้นที่ด้านนอกภายในพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบและจัดวางไว้ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เส้นทางในการเดินทางไปมีจุดให้ความรู้ที่อยู่ใกล้ชุมชน เป็นที่นั่งสาธารณะและให้ความรู้ถึงที่มาที่ไปของย่าน Jurong เมื่อเดินเข้ามาถึงพิพิธภัณฑ์ก็มีจุดแสดง Rolling Ball หรือ Kinetic Sculpture ในหลายจุด ให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของลูกบอลในตู้กระจกขนาดใหญ่มีหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลายประการทั้งฟิสิกส์ กลศาสตร์ ด้านพลังงานและการเคลื่อนที่
การใช้ภาพลวงตา ทั้งแบบการใช้แสงและเงา เงาสะท้อนวัตถุ ตลอดจนมีสกรีนให้ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาร่วมสนุกได้
การแสดงนิทรรศการวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวอย่างเรื่องการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพจากการกิน สามารถกดปุ่มแล้วฟังเสียงผายลมแต่ละแบบที่ระบุได้ว่า สุขภาพการขับถ่ายเป็นอย่างไร มีแก๊สแบบใดเยอะ คงมีเด็กกดเล่นเยอะมาก เพราะตัวเราเองยังสนุกเลย นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองของอุจจาระให้วิเคราะห์สุขภาพการกินของเราด้วย
ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกมาก แต่เวลาไม่พอสำหรับการศึกษาใน Science Center ในจุดอื่น ๆ จึงต้องขอจบเรื่องราวใน Science Center ไว้เพียงเท่านี้
หลังจากที่เราไปแหล่งเรียนรู้ทั้ง 2-3 แห่งนี้มา จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเป็นสถานที่แบบเสียเงินเข้าเท่านั้น ประเทศสิงคโปร์ยังมีแหล่งเรียนรู้ฟรี ๆ ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันได้ ดีใจที่ได้ไป National Museum Singapore ก่อนในวันแรกเพราะทำให้เข้าใจ Mindset ของประเทศเขา แล้วพอเราไปดูอื่น ๆ ใด ๆ เราก็พอจะร้องอ๋อกับเขาได้บ้าง
ความคิดต่อยอดจากการวิเคราะห์แหล่งเรียนรู้ที่ได้ไปชมมานี้ ทำให้คิดว่า...
แก่นของการทำแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของเงินลงทุนงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบที่เข้าถึงง่าย มีคนใช้ มีจุดต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนิสัยของผู้เข้าชมอย่างเด็กไทยในบ้านเราด้วย ยังต้องวิเคราะห์กันอีกมากมาย สู้กันต่อไป
อารยา
Categories
Hashtags