เพิ่มพูนทักษะการทำงานจากแหล่งเรียนรู้ในสิงคโปร์ ตอน 1
Published: 11 November 2024
3 views

ในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีงาน Edutech Asia 2024 จัดที่ประเทศสิงคโปร์ หน่วยงานของ มจธ. ที่เกี่ยวข้องจึงส่งตัวแทนไปเข้าร่วมงานโดยการเดินทางต้องไปก่อนเวลาและกลับหลังเวลาที่งานจัด จึงมีช่วงที่เราได้ไปศึกษานอกสถานที่อย่างแหล่งเรียนรู้หลายแห่งในสิงคโปร์เพื่อนำกลับมาทำงานที่เกี่ยวข้อง ในรายละเอียดของการบรรยายในงาน Edutech Asia 2024 จะได้เห็นในบทความอื่น แต่บทความนี้ขอเล่าถึงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ กันก่อน

National Museum สิงคโปร์

ทัศนคติของผู้เขียนก่อนเดินทางไปชม รู้สึกว่า ที่นี่ไม่น่ามีอะไร เพราะเป็นประเทศที่ดูใหม่ อายุน่าจะน้อย ๆ เป็นเมืองท่า ดังนั้น หากจะทำมิวเซียมแห่งชาติของตนขึ้นมา เขาน่าจะต้องจัดให้ดูมีอะไร หรือคอนเท้นเขาจะนำเสนอแบบไหน จึงน่าสนใจที่จะเดินทางไปรับชม

เริ่มจากประตูทางเข้าเลย ก็จอดเทียบเข้าตัวอาคารเพียง 2 ก้าวหลังจากลงรถ การซื้อบัตรจะแบบออนไลน์หรือหน้างาน การจัดการด้านหน้าต้องเข้าไปตัวอาคารเสียก่อน จึงไม่มีบรรยากาศที่เราจะเห็นนักท่องเที่ยวหนาแน่น ตรงหน้าทางเข้า พอเข้าไปถึงจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดด้านหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้น คงจะมีความอดทนสูง เพราะน่าจะต้องพูดอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เยอะมาก คอยอธิบายว่า มีตั๋วหรือยัง ผู้ใช้บริการจะไปไหนต่อ ห้องน้ำอยู่ไหน บลา ๆ หลังจากที่เรามีตั๋วแล้วไปแลกบัตรเข้าพิพิธภัณฑ์ บัตรที่ได้เป็นแบบสติ๊กเกอร์ที่บอก type ของ visitor ในการจองเข้ามา มีทั้งแบบผู้ใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ยืนที่ประตูคอยสำรวจคนเข้าชมอีกครั้งหนึ่ง

บางครั้งเราไปสถานที่ใหม่ ๆ คนเราก็อาจจะติดนิสัยเข้า ๆ ไปก่อน ไม่ค่อยได้สังเกตด้านหน้าว่ามีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งเค้าดูเข้าใจ user ดี โดยจะกระจายจุดไกด์แบบนี้ไว้ในช่วงครึ่งต้นทางเดิน ช่วงกลาง ๆ ไปจนถึงท้าย ๆ จะไม่ค่อยมีแล้ว การสแกน QR Code นี้จะต้อง Connect Wifi ของเค้าในการชม ด้วยภาพแบบ AR VR และเสียงบรรยาย

ส่วนเนื้อหานะ ไม่คิดว่าจะทำออกมาได้เยอะมากขนาดนี้ เพราะนู่นนนน เขาปูมาตั้งแต่ก่อน Singapura (สิง-หะ-ปุ-ระ) ยุค Paleozoic ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปูมาว่าดินแดนนี้ทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร มาเป็น Singapura ได้อย่างไร ด้วยก่อนหน้านี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายู มีเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่และเป็นจุดสำคัญการค้าขายระหว่างจีนและอินเดีย เป็นที่ซื้อขายเครื่องลายคราม ผลิตภัณฑ์ไม้ท้องถิ่น โดยการกำเนิดของ Singapura นั้นอยู่ในช่วงคริสตวรรษที่ 13 โดยจากเกาะสุมาตราถึงบริเวณพื้นที่ประเทศสิงคโปร์มีสิงโตอยู่บนเกาะ จึงตั้งชื่อพื้นที่นี้ว่า Singapura (เมืองสิงโต) โดยมีความหมายถึงพลังและความรุ่งเรือง ส่วนพ่อค้าชาวจีนเรียก Temasik หรือ Termasek

การเปลี่ยนแปลงของสิงคโปร์ในแต่ละช่วง เขาได้แบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ ได้แก่ 1) ช่วง Singapura 2) ช่วง Crown colony 3) ช่วง Syonan-to 4) ช่วง Singapore ปัจจุบัน

เนื้อหานิทรรศการจะทำแบบเส้นไทม์ไลน์นี้ไว้ในแต่ละบอร์ดๆ เพื่อชี้ว่า เล่าถึงช่วงไหนอยู่ ผู้ชมจะเดินไปตรงไหนก่อนก็ได้เพราะไม่ได้มีสัญลักษณ์ชี้นำทาง นอกจากนี้การนำข้อมูลไทม์ไลน์ใส่จอทัชสกรีนให้ผู้ชมจิ้มเล่นได้แล้ว ยังแสดงผลผ่านจอทีวีที่ด้านบนเพื่อให้ผู้อื่นรับชมเนื้อหาด้วยกันได้ด้วย

สรุปโดยย่อถึงประวัติศาสตร์สิงคโปร์คร่าว ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ Singapura ต่อด้วย Crown Colony ซึ่งเป็นช่วงล่าอาณานิคมของอังกฤษ ศตวรรษที่ 18 อังกฤษเห็นความสำคัญของประเทศนี้ในฐานะศูนย์กลางทางการค้าทางทะเล จึงได้เข้ายึดก่อตั้งสถานีการค้า เพิ่มศักยภาพในการดึงดูดประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน อินเดีย มลายู เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้รับสถานะเป็น Crown Colony ตั้งแต่ ค.ศ. 1867 ซึ่งเป็นรากฐานความเจริญส่งผลให้ปี 1919 เป็นเมืองท่าเรือใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและมีสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยทั้งไฟฟ้า รถยนต์ โทรเลข และโทรศัพท์ มีการเชื่อมต่อเดินสัญญาณผ่านประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ 4 หรือแม้แต่สนธิสัญญาเบาว์ริงของไทยก็ส่งผลดีต่อการค้าของประเทศสิงคโปร์ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดสิงคโปร์ถือว่าเข้าสมัย Syonan-to หรือ Light of the South (แสงใต้) เป็นช่วงที่ยากลำบากของประเทศนี้เพราะการควบคุมเศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึง Sook Ching การกวาดล้างชาวจีน เหตุเพราะญี่ปุ่นสงสัยว่าชาวจีนในสิงคโปร์ให้การสนับสนุนต่อขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น หลังจากการสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง สิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1945 จึงกลับมาอยู่ภายใต้การครอบครองของอังกฤษอีกครั้ง

ช่วง Singapore

ค.ศ. 1963 สิงคโปร์เข้าร่วมกับมาเลเซียเพื่อหวังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น แต่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและการเมือง จึงแยกตัวออกจากมาเลเซียและประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1965

พอดูเนื้อหาก็ทำให้เราซึมซับถึงความแตกต่างของเชื้อชาติและการอยู่ร่วมกันในสังคมสิงคโปร์ อย่างน้อยชื่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแต่ละชื่อก็มีที่มาที่ไปจากประวัติศาสตร์ของชาติที่ทำให้เราเดินตามหากันว่า ชื่อนั้นชื่อนี้มาจากอะไร อย่างตัวอย่างในภาพคือสถานี Eunos ที่มาจาก Eunos Abdullah ชายตัวแทนชาวมาเลย์ที่ก่อตั้งพรรคการเมืองมาเลย์แห่งแรกในสิงคโปร์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญและเป็นนักเขียนสำคัญผู้หนึ่งในยุคอาณานิคมอังกฤษซึ่งเขาได้สนับสนุนให้สิทธิเสรีภาพและพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวมลายูและชาวมุสลิมในประเทศ เป็นต้น

การใช้รูปปั้นในตู้กระจกผสมกับพื้นหลังที่วาดไว้เป็นฉาก ทำให้เห็นวิถีชีวิตแบบใกล้ๆ และทำให้มันไม่แห้งเกินไปอยากทำให้เราดูภาพได้นาน ๆ (01) รวมทั้งใช้อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการประสมของเนื้อหาแบบภาพและเสียง (03) รวมทั้งการใช้สกรีนฉากแล้วทาสีขาวเพื่อฉายโปรเจคเตอร์ (02) ทำให้เราเห็นการออกแบบนิทรรศการที่เรียบง่ายและใช้งานได้จริง

การพัฒนาสิงคโปร์ที่ก้าวกระโดดมาอย่างต่อเนื่อง เด่นชัดในช่วง ค.ศ. 1960 ที่มีการลงทุนทางอุตสาหกรรม พัฒนากำลังคนให้เข้าสู่วัยทำงานที่รองรับกับงาน การเพิ่มขึ้นของแรงงานหญิงที่สัมพันธ์กับอัตราการเกิด กรส่งเสริมการวางแผนครอบครัว ทั้งการวางผังเมืองใกล้ความเจริญให้มีตลาดหรือศูนย์อาหาร ไปรษณีย์ ห้องสมุด สระว่ายน้ำ โรงหนัง ในระยะ 400 เมตรใกล้บ้าน นำไปสู่การพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างปัจจุบัน

ปิดท้ายด้วยการนำสติ๊กเกอร์ของตัวเองมาแสดงความพึงพอใจไว้ในบอร์ด

สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรและการฝึกอบรมที่หลากหลายทำงานร่วมกับพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาเพื่อให้หลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ภายในศูนย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย อยู่ใกล้ศูนย์การค้าขนาดเล็กและมีห้องจัดบรรยายหลายลักษณะ ทั้งแบบจัดงานอีเวนท์ จัดบรรยายขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ภายในห้องน้ำเป็นระบบไฟฟ้าอัตโนมัติทั้งหมดเพื่อง่ายต่อการจัดการ เจ้าหน้าที่น้อยและมีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ชั้นล่างมีตู้ Kiosk ให้ข้อมูลงานที่ยังว่างอยู่เพื่อสำหรับคนอื่นมาหางานและหาทักษะที่เหมาะกับตนเองเพื่อเข้าเรียนได้

ติดตามต่อได้ในตอน 2 เราจะถอดความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้อย่าง Science Center นะคะ

อารยา

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...