อุภโตสุชาติ หรือ Kingship ?
Published: 23 August 2023
0 views

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

จากพระราชนิพนธ์ ธรรมเนียมราชตระกูล ในกรุงสยาม ทรงเมื่อวันเสาร์ เดือนห้า แรมสิบค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช 1240 ตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2421 เป็นปีที่ 11 ใน ร.5

(25) ถ้าเจ้าฟ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ใช้สร้อยพระนามอุภโตสุชาติได้

ถ้าเจ้าฟ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ใช้สร้อยพระนาม อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณีซึ่งเป็นคำที่นับถือของพวกนักปราชญ์ชาวสยามว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ คำว่าอุภโตสุชาตินั้นว่ามีความเกิดดีแต่ฝักฝ่ายทั้งสอง สังสุทธเคราหณี ว่ามีครรภเป็นที่ถือเอาปฏิสนธิบริสุทธพร้อม คือถ้าจะรวมความตามเข้าใจ ว่ามีครรภที่เกิดปฏิสนธิบริสุทธ์ เป็นอันดีพร้อมทั้งสองฝ่าย

ที่มา : กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (2548)

ข้อมูลภาพประกอบ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศิรินทรา บรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สันนิษฐานว่า ฉายเมื่อใกล้กับพระราชพิธีเฉลิมพระนามรับพระสุพรรณบัฏและสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เมื่อ พ.ศ. 2504

คำว่า "อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี" อ่านว่า "อุ-พะ-โต-สุ-ชาด-ตะ-สัง-สุด-ทะ-เคราะ-หะ-นี" หมายถึง การเกิดดีทั้งสองฝ่าย อธิบายได้ว่า เป็นการครองราชย์ที่สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นผ่านการอภิเษกสมรสในวงศ์เครือญาติ หรือเรียกว่า "Kingship" โดยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ขึ้นครองราชย์กับเครือญาติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงมีพระโอรสธิดาต่อมาถึง 82 พระองค์ที่สืบมหาสาขาราชนิกูลเชื้อพระวงศ์ต่อมาถึง 28 มหาสาขาที่ช่วยดูแลกิจการบ้านเมือง

การสร้างความสมานฉันท์มิตรกันระหว่างรัชกาลที่ 3 กับรัชกาลที่ 4 เราจึงมีมเหสีที่มาจากหลานหลวงรัชกาลที่ 3 ถึง 3 พระองค์

1. สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้า ลักขณานุคุณ ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกสิ้นพระชนม์เนื่องจากเป็นพระยอดในพระอุทร รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาวัดโสมนัสวิหารเป็นที่ระลึก

2. สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นหลานรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกัน และสืบวงศ์ต่อมาเป็นรัชกาลที่ 5 

3. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าจอมเป็นพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (สมเด็จช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) 

28 มหาสกุล ได้แก่ 1. นพวงศ์ 2.สุประดิษฐ์ 3. กฤดากร 4. คัคณางค์ 5. ศุขสวัสดิ 6. ทวีวงศ์ 7. ทองใหญ่ 8. เกษมสันต์ 9. กมลาศน์ 10. จักรพันธุ์ 11. เกษมศรี 12. ศรีธวัช 13. ทองแถม 14. ชุมพล 15. เทวกุล 16. ภาณุพันธุ์ 17. สวัสดิกุล 18. จันทรทัต 19. ชยางกูร 20. วรวรรณ 21. ดิศกุล 22. โศภางค์ 23. โสณกุล 24. จิตรพงศ์ 25. วัฒนวงศ์ 26. สวัสดิวัตน์ 27. ไชยันต์ 28. รัชกาลที่ 5

ข้อมูลอ้างอิง

ธรรมเนียมราชตระกูล ในกรุงสยาม. (2501) ใน งานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา. สืบค้นจาก https://vajirayana.org/ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม/พระราชนิพนธ์-ธรรมเนียมราชตระกูล-ในสยาม

สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑. ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (2566). ถอดรหัสงานเสวนาพระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จักฯ. สำนักหอสมุด มจธ. : กรุงเทพฯ.


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...