สิทธิความเท่าเทียมของสตรี
Published: 23 August 2023
1 views

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มการมีพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์พระเจ้าอยู่หัวคู่กับพระราชินี นับว่า เป็นการให้เกียรติสตรีว่ามีสถานภาพเท่ากับตนเอง ในธรรมเนียมโบราณการออกแบบพระที่นั่ง หรือ Throne บัลลังก์ของประเทศในเอเชียจะออกแบบเพียงที่เดียว คือ ผู้ชาย ซึ่งเป็นฝ่ายหน้า รัชกาลที่ 4 ทรงมีสายพระเนตรถึงการแสดงความเป็นอารยะสากลว่าประเทศตะวันตกมีที่นั่งจะมีสองเก้าอี้จึงทรงนำมาปรับใช้กับไทย

ที่มาภาพ (Pinterest, 2023)

นอกจากนี้ยังมีครั้งหนึ่งที่หมอบรัดเลย์ ชวนภริยาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงประทับอยู่ ณ วัดสมอราย เมื่อแรก หมอบรัดเลย์รู้สึกหนักใจอยู่ในการผู้หญิงไปเฝ้าพระองค์ดังความในหนังสือ “Siam Then: The foreign colony in Bangkok Before and After Anna (สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์)” ของ วิลเลียม แอล บรัดเลย์ ความตอนหนึ่งว่า

ที่มา (Amazon, 2023)

“...ข้าพเจ้าเกรงว่าคงจะขลุกขลักเหมือนกันในการเข้าเฝ้าครั้งแรก ถ้ามีภรรยาติดตามไปด้วย แต่ก็คิดว่าถึงอย่างไรก็น่าจะเป็นการดีที่จะลองฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมของชาวสยามดูสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้บุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในราชอาณาจักรได้ตระหนักด้วยว่าไม่ว่าข้าพเจ้าหรือสุภาพบุรุษอเมริกันคนใด ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครเลยที่ถือว่าผู้หญิงต่ำต้อยกว่าตน

เรากลับได้รับพระราชทานการต้อนรับดียิ่งอย่างน่าอัศจรรย์ใจ พระภิกษุเจ้าฟ้าทรงเชิญเรานั่งที่โต๊ะ แล้วเสด็จเข้ามาประทับลง ณ ที่ประทับตรงกันข้ามทันที โดยไม่ส่งอีหลักอีเหลื่อแม้แต่น้อยที่มีมิสซิสบรัดเลย์อยู่ด้วย

อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้เท่าเทียมในสิทธิสตรีมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระภิกษุ

อ้างอิง

สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ และสาระ มีผลกิจ. (2566). หนังสือประกอบการบรรยาย เรื่อง พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี . กรุงเทพฯ : มปพ.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...