สถาปัตยกรรมอันทันสมัยในรัชสมัย ร.4
Published: 23 August 2023
63 views

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ได้หันไปหาความนิยมที่ไปสู่แบบตะวันตกแทนรูปแบบศิลปะของจีน พระมหาปราสาทราชมณเฑียรรับเอารูปลักษณะแบบฝรั่งมาใช้มากขึ้น ซึ่งรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากทางฝรั่งเศสนั้น เรียกว่า “Neo-Classic” ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค โดยคำว่า Neo หรือ New แปลว่า “ใหม่” ที่มาจากส่วนของ Classic จากชื่อเรียกศิลปะกรีกในยุคคลาสสิค Neo-Classic เป็นศิลปะที่สะท้อนถึงการเกิดความต่อต้านในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ในยุโรปที่แบ่งชนชั้น จึงทำให้ส่วนหนึ่งชาวยุโรปกลับมาสนใจในศิลปะแบบคลาสสิคอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ลักษณะของศิลปะแบบนีโอคลาสสิคจึงมีแนวคิดที่สร้างสรรค์จากการลอกเลียนผสมกับศิลปะยุคโบราณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ขึ้นในที่สวนขวาใหม่ทั้งหมู่ รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ผสมผสานอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของทางตะวันตกร่วมกับสถาปัตยกรรมจีน โดยเฉพาะลักษณะหลังคาเก๋งแบบจีน รวมทั้งได้นำสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเข้ามาผสมผสานด้วย แนวคิดหลักที่ใช้ออกแบบพระที่นั่งต่าง ๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ คือโปรดเกล้าสร้างในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์จะประทับและทรงดำรงชีวิตอย่างสมัยใหม่ ทั้งเป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกแขกเมือง และเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ในลักษณะที่เรียกว่า State Apartment ในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรป ด้วยมีพระราชดำริว่าพระมหากษัตริย์ควรปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตให้เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในสากล โดยอย่างที่ทราบดีว่า มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2398 หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ประกอบอาคาร 11 หลัง เป็นอาคารพระที่นั่ง 8 องค์ นอกจากนี้กระบวนการช่างศิลปะอย่างยุโรปได้แพร่หลายออกไปสู่วัดวาอาราม และวังเจ้านายในท้องที่ต่าง ๆ จนกล่าวได้ว่า รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยเริ่มแรกของศิลปะตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

จากหนังสือของงานเสวนาวิชาการเรื่องพระอัจริยคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อในโอกาสเฉลิมฉลองศุภวาระครบ 200 ปี แห่งพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2548 บทความของ ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า รูปแบบสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นจากหลายแนวทางซึ่งงดงามและแตกต่างออกไปสิ้นเชิงได้แก่

  1. สถาปัตยกรรมที่ดำเนิตามประเพณีนิยม ตามคติความเชื่อที่สืบเนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ จึงมีการสร้างปราสาทเฉลิมพระเกียรติ ดังเช่น ให้สร้างพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีตามประเพณีที่เคยสืบมา
  2. สถาปัตยกรรมที่ดำเนินตามธรรยุติกนิกายที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้น ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด เช่น ให้มีสีมาสองชั้นเพื่อความสามัคคีในหมู่พระสงฆ์ การปรับให้มีพระพุทธรูปตามขนาดพระองค์จริงของพระพุทธเจ้า
  3. สถาปัตยกรรมที่ดำนินตามกระแสอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุให้มีการสร้างหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
  4. สถาปัตยกรรมที่ดำเนินตามสภาพแวดล้อม แม้ว่าจะมีหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับแขกต่างบ้านต่างเมืองประกาศความเป็นอารยะสากลที่สร้างขึ้นแบบตะวันตก แต่ก็ยังมีการแทรกศิลปะจีนเข้าไปกับหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ด้วยเพื่อให้เข้ากับของเดิมอย่าง "สวนขวา" สวนที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามซึ่งได้อิทธิพลศิลปะจีนมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2


เพิ่มเติมจากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

อ้างอิง

เกตน์นิภา สุขสงวน. (2559). ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค. (ออนไลน์). URL: https://angiegroup.wordpress.com/2016/03/26/ศิลปะนีโอคลาสสิก-neo-classic/, สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566

ดินาร์ บุญธรรม. (2563). หมู่พระอภิเนาวน์นิเวศน์. (ออนไลน์). URL: http://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์/, สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2566.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สำนักหอสมุด, วรจิตติ์ ปิยะภาณี, นิตยา บุญปริตร, & ลดาวัลย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา. (2548). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2548). พระอัจฉริยคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...