Rewrite from contributor ThaiLIS
ส่วนหนึ่งในภารกิจหอบรรณสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 4 โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือ บทความ นิทรรศการ ฯ โดยในครั้งนี้ได้รับโอกาสในการไปเก็บข้อมูลจากสถานที่จริงผ่านการเยี่ยมชมวัดราชาธิวาส และได้รับความเมตตาจากพระครูสิริกวีวัฒน์ (บุญธรรม กตปุญฺโญ) ในการให้ความรู้เพิ่มเติมในสถานที่หลายแห่งภายในวัด เรื่องราวน่าสนใจจนอยากจะเก็บมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ทราบ และขออนุญาตใช้ภาษาเขียนแบบง่าย ๆ เพื่อให้คนทั่วไปอ่านได้เข้าใจกัน มากขึ้น ดังเรื่องราวต่อไปนี้
ทำไมเราต้องมาวัดราชาธิวาส
วัดราชาธิวาสเคยเป็นวัดประทับจำพรรษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) (พระบิดารัชกาลที่ 4) เมื่อครั้งทรงผนวช และเป็นที่ประทับจำพรรษาของรัชกาลที่ 4 (ขณะนั้นยังเป็นพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ฯ) ก่อนที่จะเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศ
พระเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ และพระแท่นศิลาอาสน์จำลอง
พระเจดีย์สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในคราวรัชสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับพระแท่นศิลาอาสน์จำลอง เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 เสด็จธุดงค์เมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบพระแท่นบริเวณเนินปราสาท ทรงชะลอนำมาประดิษฐานไว้ใต้ต้นมะขาม หน้าพระอุโบสถวัดสมอราย ภายหลังเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้ชะลอไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัด) ส่วนที่วัดราชาธิวาสจึงได้มีการจำลองไว้ ณ สถานที่เดิม
ต้นโพธิ์ลังกา (1 คู่ ทั้งด้านซ้ายและขวา)
กล่าวกันว่า ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ปลูกในสมัยรัชกาลที่ 2 ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จะมาประพรมน้ำหอมที่ต้นโพธิ์จวบจนปัจจุบัน
ในภาพนี้เป็นต้นฝั่งขวา
ชื่อวัดสมอราย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้เป็นวัดที่สร้างมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับชื่อวัด "สมอ" เป็นคำมาจากคำเขมรว่า ถมอ ซึ่งแปลว่า ศิลา วัดสมอราย ทรงแปลว่า วัดศิลาราย (สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส 2546:14) ซึ่งพระครูฯ ได้ขยายความให้พวกเราเพิ่มเติมว่า เดิมทีวัดนี้มีหินจำนวนมากตั้งวางอยู่เรียงราย และวัดใกล้กับวัดสมอราย คือวัดเทวราชกุญชร ที่สมัยนั้นเรียกว่า วัดสมอแครง ที่กร่อนเสียงจากภาษาเขมร อาจจะเป็นหินแข็ง หินแครง จึงชื่อวัดสมอแครง
ที่ตั้งของวัด
วัดราชาธิวาสอยู่ติดกับวัดคอนเซ็ปชัญ สมัยนั้นเรียกว่า วัดบ้านเขมร (ขณะที่ไปยืนดูในพื้นที่จริง มีระยะห่างเพียง 300 เมตร หากยังไม่มีการตัดถนน)
โดยในสมัยนั้นมีเพียงลำคลองแคบๆ กั้นกลางเท่านั้น ด้วยความที่รัชกาลที่ 4 สนพระทัยใฝ่รู้ในวิทยาการแผนใหม่ของฝรั่งตะวันตก เมื่อทรงทราบกิตติศัพท์ความรอบรู้ของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ จึงให้นายเกิดมหาดเล็กไปเชิญมาเข้าเฝ้าที่วัดบ้าง (คณะผู้เยี่ยมชมคิดเองว่า อาจจะมีเสด็จไปด้วยตนเองบ้าง) ทำให้สังฆราชปาเลอกัวซ์ได้ถวายความรู้เรื่องสรรพวิทยาการของชาติตะวันตก เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งเรื่องคริสต์ศาสนาแด่เจ้าฟ้ามงกุฏ (ชื่อพระยศขณะทรงผนวช) ขณะเดียวกันปาลเลอกัวซ์เองก็ได้เรียนรู้ภาษาบาลี ภาษาไทย พระพุทธศาสนา และพงศาวดารสยาม จากสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง การได้เข้าเฝ้าและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันนี้ ก่อให้เกิดมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างนักปราชญ์ทั้งสอง จนกลายมาเป็นพระสหายสนิทยิ่ง (มติชนอคาเดมี่ : 2566)
ธรรมยุติกนิกายเริ่มขึ้นได้อย่างไร
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงจัดการผนวชให้แก่พระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระยศขณะนั้นของรัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2367 ทรงใช้ฉายาว่า "วชิรญาโณ" และประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุเพียง 3 วัน จากนั้นจึงเสด็จมาประทับอยู่ที่วัดสมอราย เนื่องด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาธรรมปฏิบัติในแนวทางวิปัสสา ด้วยว่าเป็นแนวทางที่พระบรมชนกนาถทรงได้เคยศึกษาปฏิบัติมา ณ ที่วัดแห่งนี้ หลังจากที่ทรงผนวชได้ 13 วัน รัชกาลที่ 2 ทรงพระประชวรและทรงเสด็จสวรรคตโดยไม่ได้มีพระราชดำรัสในการตรัสมอบพระราชสมบัติแก่ผู้ใด พระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าเสนาบดีได้ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ควรอัญเชิญพระราชโอรสอีกหนึ่งพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ดังนั้น พระวชิรญาณจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะยังทรงอยู่ในสมณะเพศต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเวลา โดยมุ่งมั่นที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง พระองค์จึงทรงประทับศึกษาธรรมปฏิบัติวิปัสสนาในสำนักพระอาจารย์วัดสมอรายจนจบสิ้นและเสด็จไปประทับ ณ วัดพลับพลา เพื่อศึกษาพระพุทธฯที่วัดนี้อีกแห่งหนึ่งเป็นครั้งคราว และเสด็จไปศึกษาธรรมจากพระอาจารย์ที่วัดอื่น ๆ อีก และคำสอนพระอาจารย์ทั้งหมดไม่อาจขจัดความสงสัยของพระองค์ได้ การที่จะทราบถึงวิธีที่จะนำไปสู่ผลสูงสุดของการศึกษาพระพุทธศาสนานั้นสมควรที่จะต้องศึกษาด้านพระปริยัติธรรมอันเป็นแก่แท้อย่างจริงจัง ต่อมาพระองค์ทรงทราบว่า มีพระภิกษุชาวมอญรูปหนึ่งฉายาว่า พุทฺธวํโส อยู่วัดบวรมงคล ตำแหน่งพระสุเมธมุนีเป็นพระราชาคณะ มีความรู้ทางด้านพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด พระองค์จึงเสด็จไปทรงสนทนาและทรงได้สอบถามพระวินัยต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงศึกษามา จึงทรงมีความเลื่อมใสและมีความยินดีว่า พระพุทธศานานั้นคงจะไม่เสื่อมสูญแล้วจึงทรงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2368 (อัครพันธุ์ พันธุ์สัมฤทธิ์, 2545 : 18)
พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงโดยรอบ ประดับช่อฟ้าใบระกา ปัจจุบันตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ (เดิมพระตำหนักแห่งนี้อยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ) กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ โปรดฯ ให้สร้างถวายเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระวชิรญาณ (รัชกาลที่ 4)
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด
พระครูฯ เล่าว่า ตามที่ปรากฏหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 4 นั้น มิได้ทรงบูรณะใด ๆ กับวัดนี้เลย เพียงแต่มาประทับจำพรรษาเท่านั้น แต่เริ่มมีการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ด้วยวัดนี้มีความเก่าแก่ที่สำคัญเป็นที่ประทับจำพรรษาขณะผนวชของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ รัชกาลที่ 5 ทรงเอาพระทัยใส่ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาสเป็นอันมาก เสด็จพระราชดำเนินสำรวจและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดด้วยพระองค์เอง โดยการออกแบบพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์ และภาพเขียนภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นผลงานชิ้นเอกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู (ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 กับพระองค์เจ้าพรรณราย)
ดังนั้น อุโบสถจึงเป็นสถานที่แห่งแรกที่เราสนใจและเดินชม
พระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถมีแผนที่บอกข้อมูลสำคัญในวัดหลาย ๆ แห่ง
การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด
พระครูฯ เล่าว่า ตามที่ปรากฏหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ สรุปได้ว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 4 นั้น มิได้ทรงบูรณะใด ๆ กับวัดนี้เลย เพียงแต่มาประทับจำพรรษาเท่านั้น แต่เริ่มมีการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ด้วยวัดนี้มีความเก่าแก่ที่สำคัญเป็นที่ประทับจำพรรษาขณะผนวชของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ รัชกาลที่ 5 ทรงเอาพระทัยใส่ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาสเป็นอันมาก เสด็จพระราชดำเนินสำรวจและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดด้วยพระองค์เอง โดยการออกแบบพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์ และภาพเขียนภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร เป็นผลงานชิ้นเอกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู (ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 กับพระองค์เจ้าพรรณราย)
ดังนั้น อุโบสถจึงเป็นสถานที่แห่งแรกที่เราสนใจและเดินชม
พระอุโบสถ
ด้านหน้าพระอุโบสถมีแผนที่บอกข้อมูลสำคัญในวัดหลาย ๆ แห่ง
รูปทรงพระอุโบสถมีความแปลกเป็นพิเศษแตกต่างจากพระอุโบสถอื่น ๆ ด้วยสัดส่วนตัวอาคารที่มีความสูงเกล้เคียงกับส่วนหลังคา เหนือชายคาปีกนกลงมาถึงบริเวณคอสอง ตกแต่งด้วยซุ้มบันแถลง 3 ซุ้ม นอกจากนี้ด้านหน้ามีเสาหงศ์คู่โดยสมเด็จครูทรงออกแบบเป็นหงส์หล่อสำริดยืนอยู่ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น
พระอุโบสถวัดราชาธิวาส เป็นต้นแบบในการออกแบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระบวนลายที่ใช้ตกแต่งหน้าบันและซุ้มบันแถลงมีทั้งลายไทยและลายผักกูดแบบเขมร
ด้านหลังพระประธานก่อเป็นซุ้มตกแต่งด้วยพระราชลัญจกรห้ารัชกาล
รัชกาลที่ 1-5
ภายในพระอุโบสถส่วนกลางเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณีจำลอง
รัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถวัดนี้เพื่ออุทิศถวายแด่รัชกาลที่ 4 โดยพระองค์เจ้าประดิษฐวรการออกแบบปั้น โดยการถ่ายแบบจากพระสัมพุทธพรรณีในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์เดิมที่ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นขณะผนวชและประทับจำพรรษาที่วัดสมอราย (สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส 2546:103) ด้านหน้าพระสัมพุทธพรรณีจำลองภายในพระอุโบสถ มีพระนิรันตราย อยู่ด้านหน้า ซึ่งเป็นองค์หนึ่งใน 18 องค์ที่ ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2411 ตามแบบพระนิรันตรายในพระที่นนั่งอภิเนาว์นิเวศน์ เท่ากับจำนวนปีที่พระองค์เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ แต่การหล่อยังไม่แล้วเสร็จเสด็จสวรรคตเสียก่อน ร.5 จึงโปรดฯ ให้ช่างทำต่อจนแล้วเสร็จ และพระราชทานแก่พระอารามในพระธรรมยุติกาตามพระราชประสงค์ในพระบรมราชชนก
พระสัมพุทธพรรณีจำลองได้รับการประกาศให้เป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
พระสัมพุทธวัฒโนภาส
พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ (ด้านใน) ใต้ฐานประดิษฐานพระบรมราชสรี- รางคารสมเด็จพระศรีวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเส้นพระเกศาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 7 เบื้องหน้ามีพระพุทธรูปคู่ประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานชุกชีเดียวกัน
ด้านมุมซ้ายและด้านมุมขวาของพระอุโบสถมีพระบรมรูปขนาดครึ่งพระองค์ ทั้งพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 และพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนโดยช่างชาวอิตาลี
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
บนผนังพระอุโบสถทั้ง 3 ด้าน (ด้านหน้าและด้านข้าง) เขียนภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ด้านหลังพระประธานภายในซุ้ม เขียนภาพพระพุทธประวัติ
สมเด็จครูได้วาดภาพเขียนสีฝุ่น เวสสันดรชาดก ภาพร่างต้นแบบภาพเขียนในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และทรงให้นายคาร์โล ริโกลี ลงสี (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป) ลักษณะของจิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสเป็นภาพเขียนแบบตะวันตก ที่มีความแตกต่างไปจากภาพเขียนในวัดอื่น ๆ เพราะ เป็นภาพบุคคลที่มีขนาดใหญ่ ท่าทางและการแสดงออกเป็นธรรมชาติและเหมือนจริง ลำดับแสดงภาพเริ่มส่วนบนด้านซ้ายของห้อง ตามเข็มนาฬิกา และจบเรื่องลงที่ส่วนบนของผนังด้านขวา
ในกัณฑ์ที่ 13 นี้นายคาร์โล ริโกลี ร่างภาพขึ้นเองตามคำแนะนำของสมเด็จครู
พระเจดีย์
รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์โดยให้สร้างครอบองค์เจดีย์เดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่การยังไม่แล้วเสร็จ เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย ในซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปในคติพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน ทำด้วยศิลา (ตามแบบชวา)
พระวิหาร หรือ ศาลาสมเด็จพระอัยยิกา
ที่หน้าบันมุขทั้ง 4 ของพระวิหารนี้ มีอักษรขอมแสดงหลักธรรมครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทิศตะวันออก (ด้านหน้า) สุขา เมตฺเตยฺยตา โลเก - ความเป็นผู้มีเมตตา เป็นสุขในโลก ทิศตะวันตก (ด้านหลัง) นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ (ความสุขที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี) ทิศเหนือ อปฺปมตฺตา โหนฺตุ (จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด) ทิศใต้ สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำพูดจริงเป็นสิ่งไม่ตาย)
ภายในอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ขนาดเท่าคนจริง ภายใต้พุทธบัลลังก์เป็นที่บรรจุสรีราคารสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4)
ศาลาการเปรียญ
เป็นศาลาเครื่องไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สร้างในรัชสมัย ร.5 ออกแบบโดยพระยาจินดารังสรรค์ ตามแบบศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าบันม่ตราจุลมงกุฎ คอื พระเกี้ยวในรัชกาลที่ 5 และด้านหลังเป็นตราวชิราวุธ เครื่องหมายในรัชกาลที่ 6
จุดเด่นภายในศาลาการเปรียญแห่งนี้ คือ เสาไม้ขนาดใหญ่ 2 แถว 8 คู่ 16 ต้น
อาคารพิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4
เริ่มก่อสร้าตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 ในการสร้างอาคารมีตระกูลของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นผู้อุปถัมภ์ เนื่องจากเคยมาเป็นศิษย์วัดที่นี่ และได้ปวารณาตัวไว้ว่าจะอุปถัมภ์วัด ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รวบรวมโบราณวัตถุที่ท่านเจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมา แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ มาจัดแสดงแต่มิได้เปิดให้ชมสาธารณะ แบ่งออกเป็น 5 ห้องจัดแสดง (และกำลังทำห้องที่ 6) ชั้น 2 ของอาคาร ได้แก่ ห้องภูษาแพรพรรณ เกี่ยวกับโบราณวัตถุผ้า ห้องป้านชาและเครื่องกระเบื้องเคลือบ ห้องเครื่องมุก เครื่องถมปัด และเครื่องเบญจรงค์ ห้องเครื่องทองเหลืองและเครื่องเขิน ห้องคัมภีร์ใบลานและตู้พระธรรม จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับ “กระดาษ” เนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น สมุดไทย คัมภีร์โบราณ รวมถึงตู้พระธรรมสำหรับใส่หนังสือที่จั้งอยู่กลางห้อง มีพระบรมฉายาลักษณ์และตราพระราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 6 สำหรับห้องที่ 6 เป็นห้องรวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 4 เช่น พระบรมรูป พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมฉายาลักษณ์ เป็นต้น
อ้างอิง
มติชนอคเดมี่. (2566). รู้จัก “สังฆราชปาลเลอกัวซ์” พระสหายสนิท รัชกาลที่ 4 !!. URL: https://www.matichonacademy.com/tour-story/รู้จัก-สังฆราชปาลเลอกั, สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2566.
สมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส. (2546). ศิลปกรรมวัดราชาธิวาส. กรุงเทพฯ: ศิวัฒน์ การพิมพ์.
อัครพันธุ์ พันธุ์สัมฤทธิ์, 2545, การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดราชาธิวาสวรวิหาร (วัดสมอราย), วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ภาพปกจาก ChatGPT4o
Categories
Hashtags