รากฐานประชาธิปไตย
Published: 5 July 2023
4 views

การเลิกทาส คือ การยกเลิกระบบทาส ระบบไพร่ ระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้นเพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้ โดยไม่มีกำหนดว่าจะมีสิ้นสุดลงเมื่อใด

ในประเทศไทยเรามีการยกเลิกระบบไพร่-ทาส เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งทรงประกาศใช้ "พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124" และ "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124" ถือเป็นการเลิกระบบทาส ระบบไพร่ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้น วันที่ 1 เมษายน จึงเป็นที่รู้จักกันใน วันเลิกทาส ด้วย

มติชนออนไลน์, 2561

ซึ่งผู้เขียนคิดว่า หากไม่มีการยกเลิกระบบไพร่-ทาส แนวทางการพัฒนาประเทศไทยเราคงไม่สามารถเป็นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างในทุกวันนี้ได้ และนอกจากนี้ผู้เขียนเคยดูยูทูปเกี่ยวกับเรื่องราวของอัจฉริยภาพในแต่ละรัชกาลแห่งยุครัตนโกสินทร์ผ่านหลาย Channel ซึ่งแทบทุกชาแนลต้องมีการกล่าวถึงพระปรีชาของรัชกาลที่ 5 ในพระราชกรณียกิจเลิกทาสดังกล่าว แต่มีครั้งหนึ่งที่ดูผ่านชาแนลของ Dhanadis - ธนดิศ ซึ่งเป็นช่องที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวิเคราะห์กระแสบ้านเมืองผ่านมุมมองนักประวัติศาสตร์ และอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงเรื่องราวของประชาธิปไตยไว้ว่า จริง ๆ เริ่มมีรากของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว เพราะพระองค์มีความเสรีนิยม (Liberal) ในตัวพระองค์เองด้วย ซึ่งเมื่อศึกษาจากหนังสือ "สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์" จะพบข้อความที่เขียนเกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 ว่า "...ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า รัฐบาลพระองค์จะดำเนินรอยตามแบบอย่างการปกครองกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบของอังกฤษในระดับหนึ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าไม่เป็นการดีสำหรับประชาชนชาวสยามที่จะต้องถูกปกครองตามอำเภอใจของคนเพียงคนเดียวดังที่เคยเป็นมา..." ในหนังสือ "พระจอมเกล้า King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม

พระจอมเกล้า พระเจ้ากรุงสยาม | e-book ร้านหนังสือนายอินทร์

ภาพปกหนังสือจากเว็บไซต์นายอินทร์

ได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า ชีวิตผู้คนนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เมื่อเร่งรีบก็จะรีบได้สูงสุดแบบเท่าที่เป็นไปได้ ดังความเร็วของเรือพายในสมัยนั้น หน้าที่ต่าง ๆ ของคนในสังคมถูกแบ่งไว้ตามสถานะ เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง คนกลุ่มใหญ่ทางสังคม คือ ไพร่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเสรีชน ชาวบ้านทุกคนต้องมีสังกัดขึ้นอยู่กับกรมกองในผู้บังคับบัญชาของเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางข้าราชการ หากมองได้อีกมุมหนึ่ง ถือได้ว่า ไพร่และทาส เป็นกองกำลังส่วนตัวของเจ้านาย ใครที่สะสมไว้มากอาจจะถูกเพ่งเล็งได้ว่าคิดไม่ซื่อต่อราชสำนัก การเลิกทาส เลิกไพร่ มูลเหตุหนึ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส เลิกไพร่ อาจเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทอนกำลังขุนนางที่มีอำนาจแต่เดิมเพื่อทรงจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอย่างใหม่ได้สะดวก

นอกจากนี้ในงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จักฯ" ยังมีการพูดคุยถึงแนวคิดรากฐานการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทันสมัยแห่งยุค เห็นได้จากการให้เกียรติสตรี จากการฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ที่เป็นรูปในหลวงพระราชินีนั่งคู่กัน ซึ่งเป็นดั่งภาพต้นแบบที่กษัตริย์ทุกพระองค์ของไทยฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่พระราชินีมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นอกจากความทันสมัยแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และปรากฏพระราชกระแสเกี่ยวกับการจัดตั้งชั้นเรียนขนาดใหญ่ให้แก่เด็กหนุ่มชาวสยามเพื่อให้มีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและให้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้น ตั้งแต่ก่อนจะทรงลาสิกขาจากสมณเพศ เมื่อครั้นพระองค์ทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงให้ทุกคนได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำมาพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

เพิ่มเติมจากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

อ้างอิง

บรัดเลย์, ว. , ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา, & ศรีลักษณ์ สง่าเมือง. (2547). สยามแต่ปางก่อน: 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์ = Siam Then : the foreign colony in Bangkok before and after Anna (พิมพ์ครั้งที่ 2.). กรุงเทพฯ: มติชน.

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2536). สมเด็จพระจอมเกล้า พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ: เอ็ม ปี เอ.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...