รากฐานการศึกษา
Published: 5 July 2023
5 views

เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตกเกิดขึ้น

ก่อนหน้านั้นสยามได้รับรู้ถึงกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาในรูปของการค้าและการล่าอาณานิคมแล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2367) หากพิจารณาจากพระราชพงศาวดารใน ร.2 จะเห็นปรากฏการณ์ที่เรือกำปั่นค้าขายของพ่อค้าต่างประเทศ อย่างอังกฤษและอเมริกาได้เดินทางเข้ามาค้าขาย และพยายามติดต่อ - ใกล้ชิดกับราชสำนักสยามติดตามมาด้วยการที่ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษที่อินเดียโดยส่ง เซอร์ จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นทูตเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ใน พ.ศ. 2364 ซึ่งจุดมุ่งหมายในอังกฤษขณะนั้น ต้องการขยายการค้าสินค้าสำคัญประเภทผ้าขนสัตว์ ผ้าฝ้าย เหล็ก และฝิ่น

ภาพจาก Blockdit

ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษที่เริ่มมีขึ้นมาแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ 3 เซอร์จอห์น บาวริง ซึ่งเป็นทูตชุดใหม่จากพระนางเจ้าวิกตอเรียแหล่งอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่เขียนภายหลัง The Kingdom and People of Siam โดยสรุปว่า การเจรจาทางการทูตระหว่างสยามกับอังกฤษและอเมริกาไม่ก้าวหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเพราะการกีดกันของขุนนางตระกูลบุนนาคที่ไม่พอใจในการทำหนังสือสัญญาที่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมโบราณ

ภาพจากหนังสือ Bowring, J. (1857). The Kingdom and People of Siam: With a Narrative of the Mission to that Country in 1855. United Kingdom: J. W. Parker.

ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสแสดงถึงความห่วงใยต่ออนาคตบ้านเมืองในช่วงเวลา พ.ศ. 2393 ที่ทรงประชวรว่า "...การศึกษาสงครามข้างญวณข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว" (ทิพากรวงศ์ : 2504 ก : 370)

ดังนั้น เมื่อสืบต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์จึงทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำค้าขายและรับราชการ ทรงพระราชประสงค์จะให้พระราชวงศ์และขุนนางราชการได้มีความรู้ในเรื่องภาษาและได้พูดจาโต้ตอบกับชาวต่างชาติได้ทั้งสามารถเรียนรู้ตำรับตำราวิทยาการที่เป็นภาษาอังกฤษของชาวตะวันตกได้ด้วย ในหนังสือบางกอกคาเลนเดอร์ประจำปี พ.ศ. 2402 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้ในบันทึกเหตุการณ์ที่น่าสนใจประจำปี ไว้ว่า "...พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้มิชชันนารีโปรแตสแตนท์ทั้ง 3 คณะ ผัดเปลี่ยนกันเข้าไปสอนความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไปแก่สตรีในราชสำนักอาทิตย์ละ 2 วัน .. ซึ่งส่งผลให้ความรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ได้แพร่หลายออกไปสู่พระราชวงศ์.. ใน พ.ศ. 2405 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระยาอนุกูลสยามกิจ หรือ ตันกิมจิ๋ง ข้าหลวงที่ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ช่วยจัดหาครูสอนภาษาอังกฤษให้ ด้วยทรงมีพระราชาประสงค์จะว่าจ้างมาสอนภาษาอังกฤษ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการศาสนาเหมือนพวกบาทหลวงมิชชันนารีในราชอาณาจักร..." ครั้งนั้นกงสุลสยามประจำสิงคโปร์ได้แนะนำให้มิส แอนนา เลียวโนแวนส์สุภาพสตรีชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มารับว่าจ้างและทำหน้าที่ถวายการศึกษาแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระราชสำนัก

เพิ่มเติมจากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

อ้างอิง

เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2553). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ: ฝ่าวิกฤตยุคล่าอาณานิคม นำพาสยามสู่โลกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สยามความรู้.

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2548). พระอัจฉริยคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2548). ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...