พระมหามงกุฎหรือพระมหาพิชัยมงกุฎ
Published: 18 March 2025
10 views

พระมหามงกุฎ พระเศวตฉัตร

หากเข้ามาชมที่หอบรรณสารสนเทศ ชั้น 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จะเห็นว่า มีอยู่ทั้งหมด 2 ชุดด้วยกัน ชุดหนึ่งเดินขึ้นบันไดชั้นลอยมาพบเห็นได้เลย อีกชุดหนึ่งเดินเข้าไปในหอบรรณสารสนเทศข้างพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงจะพบเห็นได้

ที่มาที่ไปและความแตกต่างของสองชุดนี้ คือ

พระมหาพิชัยมงกุฎและเศวตฉัตรด้านในหอบรรณสารสนเทศข้างพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับมอบช่วงแยกตัวของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อเดิมของ มจธ. (เริ่ม ๆ มีดำริจะแยกกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตนนทบุรีลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 มีประกาศเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2529) โดยการจับสลากเสี่ยงทายแบ่งกันในสามสถาบันดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นทาง สจธ. ได้รับพระมหามงกุฎ เศวตฉัตร และครุฑ ซึ่งเป็นเครื่องสัญลักษณ์สำคัญแห่งกษัตริย์ที่กรมศิลปากรได้ทำจำลองไว้

ต่อมาเมื่อมีพิธีการสำคัญในสถาบันฯ ทั้งการประดับเข็มตราเครื่องหมายประจำชุดนักศึกษา พิธีพระราชทานปริญญาบัตร กิจกรรมพิธีการสำคัญต่าง ๆ ในทั้งสามสถาบันมีการอัญเชิญพระมหามงกุฎเพื่อประกอบเป็นสิริมงคลศักดิ์สิทธิ์ในพิธี เพื่อไม่ให้ชำรุดเสื่อมสภาพ สำนักหอสมุด มจธ. จึงได้ขอให้มีการจัดทำจำลองขึ้นอีกหนึ่งชุด ใน พ.ศ. 2550 โดยผู้ที่ทำจำลองนี้ คือ อาจารย์ประเทือง บุญรอด ออกแบบและจำลองตามพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีฉัตร 5 ชั้น ดังนั้น เมื่อมีพิธีการสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยจึงได้อัญเชิญพระมหามงกุฏและฉัตรบริวาร ไปประกอบพิธีการต่าง ๆ สืบมาจนถึงทุกวันนี้

พระราชลัญจกรรัชกาลที่ 4

รูปถ่ายจากนิทรรศการ รัชกาลที่ 4 หอบรรณสารสนเทศ มจธ.

พระมหามงกุฎที่โลกตะวันตกรับรู้

ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงล่าอาณานิคมจากตะวันตก มีอิทธิพลของฝรั่งเศส และอังกฤษเข้ามาค้าขายและแสดงอำนาจในภูมิภาค อาณาจักรโดยรอบของสยามต่างตกเป็นอาณานิคมของสองชาตินี้ ประเทศไทยหรือสยามในขณะนั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าสยามไม่สามารถปิดกั้นตนเองจากอิทธิพลตะวันตกได้ต่อไป และจำเป็นต้องปรับตัวจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างเพื่อให้สยามดำรงความเป็นอิสระและลดข้อเสียเปรียบให้ได้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ การรับวัฒนธรรมต่างชาติในการติดต่อทางการทูต "เจ้าฟ้ามงกุฎ" เป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในต่างชาติเป็นที่รู้จักกันในนามของ King Mongkut โดยพระองค์ทรงเป็นผู้เปิดสัมพันธภาพกับชาติตะวันตก ส่วนหนึ่งของราชไมตรี คือ การให้สิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการโดยมีพระมหามงกุฎสยาม เพื่อระลึกถึงราชไมตรีภายหน้า ทรงมีพระราชดำริให้จำลองมงกุฎขึ้น หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึง พระมหามงกุฎว่า "เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระองค์พระมหากษัตริย์สำหรับแสดงความยิ่งใหญ่ และเป็นพระเกียรติยศในฐานะพระราชา" หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟองเตนโบล ในประเทศฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงพระมหามงกุฎสยาม โดยระบุถึงการจัดกลุ่มสิ่งของชิ้นเดียวที่มีราคาสูงสุดในพระราชวัง ซึ่งพบว่าเป็นทองคำทั้งองค์ ประดับอยู่ด้วยทับทิม 2,298 เม็ด เพชรเหลี่ยมกุหลาบ 233 เม็ด มรกต 46 เม็ด และไข่มุก 9 เม็ด

พระมหามงกุฎ - ของสูง เครื่องมงคล

พระราชพิธีสำคัญในการครองราชย์อย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์ไทยที่จะสะท้อนถึงเครื่องมงคลอย่างพระมหามงกุฎได้ชัดเจน คือ พิธีพระบรมราชาภิเษก มีลักษณะผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ มีกระบวนการสำคัญคือ การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์เครื่องหมายแห่งอำนาจสัญลักษณ์ในการปกครองแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2328 มีการสร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยในครั้งนั้นมีครบชุด ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระขรรค์ชัยศรี วาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน (ของชุดนี้ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่มีพระเศวตฉัตรเพราะแทนด้วยพระที่นั่งอัฐทิศฯ ในพระราชพิธีแล้ว)

พระมหาพิชัยมงกุฎจริงน้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม ความหมายที่แอบแฝงคือ การแบกรับพระราชกิจ การใส่มงกุฎหมายถึง การต้องคุ้มครองทุกสิ่งทุกอย่างที่รอบตัวของพระองค์ เดิมพระมหาพิชัยมงกุฎเรียกว่า พระมหามงกุฎเป็นศิราภรณ์ของพระมหากษัตริย์ ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี ส่วนปลายสุดของมงกุฎประดบด้วยเพชรขนาดใหญ่เรียกว่า มหาวิเชียรมณี นอกจากนี้ยังมีพระขรรค์ชัยศรี ดาบที่แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพ หมายถึง ไว้ตัดความอยุติธรรม ธารพระกร คือ ไม้เท้า หมายถึง อายุยืน ไม้เท้าเป็นตัวแทนของความรู้ ผู้ที่มีประสบการณ์มาก พัดวาลวิชนี สื่อได้ถึงความร่มเย็น พร้อมพระแส้จามรี คือ เป็นสุขปราศจากเสนียดจัญไร ฉลองพระบาทเชิงงอน คือ แผ่นดินอันรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ นอกจากนี้เครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ในคัมภีร์โลกบัญญัติ (พุทธศตวรรษที่ 16) ระบุถึงเบญจกกุธภัณฑ์ 5 สิ่งโบราณ ได้แก่ พระมหามงกุฎ ที่หมายถึงยอดวิมานของพระอินทร์ พระขรรค์ พระภูษาผ้ารัตกัมพล การเป็นที่พึ่งแห่งธรรมและราษฎร พระเศวตฉัตร หมายถึง สวรรค์ฉกามาพจร ฉลองพระบาท

หากถอดความหมายให้ลึกซึ้งขึ้น เราจะพบว่า พระมหาพิชัยมงกุฏเป็นสัญลักษณ์ของยอดวิมานพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นอินทรคติที่ริเริ่มในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงอัญเชิญพระมหามงกุฎไว้บนยอดสูงของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม และอีกหลายแห่ง

สำหรับครุฑที่ได้รับมอบมาอีกหนึ่งชิ้นนั้นทำด้วยดอกไม้แห้ง ซึ่งยังมีสภาพอยู่ดี ครุฑเป็นสัญลักษณ์ในคติกษัตราธิราชของสยามเป็นการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาพุทธกับการผนวกรวมเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่ไทยเช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับของสูงที่จำลองจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นของสูงที่ใช้ในพระราชพิธีมงคลสำคัญ พิธีพระบรมราชาภิเษก โดยจะเรียกว่า พระมหามงกุฎ หรือพระมหาพิชัยมงกุฎ ก็ได้ ส่วนเศวตฉัตรเป็นเบญจเครื่องราชกกุธภัณฑ์แต่โบราณซึ่งไม่ได้นับรวมเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยบริบทของรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ทำให้เครื่องมงคลอย่างพระมหามงกุฎเป็นเครื่องบรรณาการส่งถึงกษัตริย์ในเมืองอื่น ๆ อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ ด้วยโดยอาจจะปรากฏในแห่งอื่น ๆ อีกก็ได้ ยังรอการค้นคว้าจากผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ต่อไป

หอบรรณสารสนเทศ ชั้น 2 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดให้บริการ 08.30-17.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ ปัจจุบันดำเนินโครงการพระจอมเกล้าศึกษาเพื่อการค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้อันสะท้อนถึงรากฐานสำคัญของวิทยาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ archive.lib@kmutt.ac.th หรือ 024708217

ข้อมูลอ้างอิง

MGR Online. (2558). “พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง” ถูกโจรกรรมไปจากพระราชวังฟงแตนโบลของฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. URL: https://mgronline.com/around/detail/9580000025043.

ไกรฤกษ์ นานา. (2565) .ค้นหาความจริง “พระมหามงกุฎสยาม” ที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. URL: https://www.silpa-mag.com/history/article_8683

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องแสดงสถานะพระราชา ย้อนรากอิทธิพลอินเดียสู่รัตนโกสินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. URL: https://www.silpa-mag.com/history/article_32413.

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). ทำไมรัชกาลที่ 3 ทรงอัญเชิญ “พระมหามงกุฎ” ไว้บนยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2567. URL: https://www.silpa-mag.com/history/article_11245.

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (2568). คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก : พระมหาพิชัยมงกุฎ. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2568. URL: https://phralan.in.th/coronation/vocabdetail.php?id=317.

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (2568). หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องต้น : สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2568. URL: https://phralan.in.th/Coronation/primaryceremoniesdetail.php?id=81.

Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...