ประกันคุณภาพเชิงปฏิบัติ : ใช้ Daily Management เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
Published: 19 December 2024
16 views
ผมตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยนี้....เพราะผมเห็นว่าติดอันดับ top วิศวกรรมศาสตร์ที่ดีที่สุดครับ

หนึ่งในคำตอบของนักศึกษาคนหนึ่งที่ให้เหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมั่นใจที่หลายสถาบันการศึกษามุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อเป็นการรับประกันว่า สถาบันการศึกษาของเรามีคุณภาพ ดังนั้น เราจึงได้ยินกันคุ้นหูในองค์กรว่า "ประกันคุณภาพ"

จากข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ 6 ทศวรรษบนเส้นทางแห่งวิวัฒนาการความเป็น มจธ. หน้า 17 ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า มจธ. ได้ปรับระบบบริหารภายในเริ่มใช้การบริหารคุณภาพโดยรวม TQM : Total Quality Management มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และ มจธ. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 47 ที่ระบุว่า ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาและคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม มีทั้งเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกและภายใน สรุปผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับคณะ สรุปแผนพัฒนาคุณภาพศึกษาระดับสถาบัน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมผู้อ่านสามารถขอสิทธิ์การเข้าถึงได้ นอกจาก พรบ.ข้างต้น ยังมีกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอีกหลายตัวกำหนด เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับที่ 4 ใน พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 อีกทั้งกฎกระทรวง มาตรฐานการจัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันคุณภาพ คลิก

เนื่องจากการประกันคุณภาพเกี่ยวข้องกับมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับ ผู้ดำเนินนโยบายรวมถึงผู้ปฏิบัติงานจึงควรที่จะหาโอกาสในการศึกษาเพิ่มเติมไว้เพื่อการตระหนักถึงคุณภาพการทำงานของตนเอง โดยเป้าหมายหลักของการประกันคุณภาพการศึกษาให้เข้าใจได้ง่ายนั้น ก็เพื่อยกระดับคุณภาพของการศึกษาให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาและประสบการณ์ที่มีคุณภาพ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากการปรับปรุงกระบวนการและผลลัพธ์ให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการประเมินภายในนั้นจะเน้นที่สถาบันดำเนินการเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาการดำเนินงานของตนเองให้ได้ดี มีเครื่องมือติดตามผล การตรวจสอบความคืบหน้า และการพัฒนาปรับปรุงงาน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง แปลงเป้าหมายระดับใหญ่ของการประกันคุณภาพให้เป็นงานประจำวัน จึงเกิดการจัดการงานประจำวัน หรือ Daily Management มาเป็นแนวคิดในการปฏิบัติ/ดำเนินงาน ทั้งในบทบาทของผู้สอนที่ต้องวางแผนการสอน การเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงคุณภาพการวิจัย การพัฒนาผลการเรียนของนักศึกษา เป็นต้น

การสร้างความต่อเนื่องและให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน มี 4 เคล็ดลับในการผลักดัน ดังต่อไปนี้

  1. การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มความเร็วของการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศเข้าหอสมุด
  2. การตรวจสอบและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
  3. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง แนวคิดของ Plan - Do - Check - Act (PDCA) ในการปรับปรุงกระบวนการ การใช้แนวทางการจัดงานประจำวัน อย่างการสรุปและวางแผนงานใหม่ในครั้งหน้าเป็นการระบุปัญหาที่เกิดขึ้นและหาวิธีแก้ไขได้ทันที ไม่ให้ปัญหาลุกลาม
  4. การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ ส่งเสริมแรงบวกในการพัฒนาปรับปรุงการทำงาน เช่น การจัด workshop ประกวดผลงาน การส่งเสริมการทำงานเป็นทีม

แล้วเรื่องประกันคุณภาพจะจับต้องได้ง่ายขึ้นเพื่อการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้กับ มจธ. ของเรา

ข้อมูลอ้างอิง

[บทความ] การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 - สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม UNIQUEST MAHASARAKHAM UNIVERSITY

Q Policy - QAO KMUTT-สำนักงานประกันคุณภาพ มจธ.

กฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง - QAO KMUTT-สำนักงานประกันคุณภาพ มจธ.

ข้อมูลการประกันคุณภาพการศึกษา - QAO KMUTT-สำนักงานประกันคุณภาพ มจธ.

ธีราพร ชัยอรุณดีกุล, และคนอื่นๆ. (2563). สังคมปริวรรตพิพฒน์อนาต 60 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6 ทศวรรษบนเส้นทางแห่งวิวัฒนาการความเป็น มจธ. มปพ. 

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...