จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง
โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระราชบิดา หรือ “พ่อ” พระองค์ท่านทำหน้าที่ของการเป็นพ่อ ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นลูกได้ดีมาก แหวนพระธำมรงค์ที่ใส่อยู่เป็นแหวนที่ไม่เคยถอดเลย ซึ่งเป็นแหวนที่ท่านถอดออกมาจากศพลูกคือ พระองค์เจ้านพวงศ์ แล้วก็ทรงใส่โดยไม่เคยถอดตลอดชีวิต ท่านรักลูกมากและสอน คำสอนลูกดีมาก สอนทุกอย่างแม้กระทั่ง เช่น ลองเดินไปหยิบของที่ท้องพระโรงดูสิ ระหว่างเดินมาเห็นอะไรบ้าง เพื่อฝึกให้มีทักษะการเป็นคนช่างสังเกต
พระองค์ท่านสอนทุกอย่างด้วยคำพูดของท่าน จนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 4 จำพระราชดำรัสที่สอนลูก ๆ มาเป็นหนังสือชื่อ “ชานพระศรี” คล้ายการคลายชานหมาก คือ คลายความรู้ทุกอย่างจากปากให้กับลูก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงตอนที่ทรงให้ไปหยิบขวดน้ำหมึกในที่มาถวาย ทรงถามว่าระหว่างเอาของมาถวายพบเห็นสิ่งใดบ้างรอบตัว เป็นการฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตจึงไม่แปลกใจเลยที่ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงเป็นพระบิดาแห่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทยในที่สุด
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฉายร่วมกับพระราชโอรสและพระราชธิดา
อ้างอิง
สาระ มีผลกิจ. (2566). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ และสาระ มีผลกิจ. (2566). หนังสือประกอบการบรรยาย เรื่อง พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี . กรุงเทพฯ : มปพ.
Categories
Hashtags