ธรรมยุติกนิกายคืออะไร ทำไมต้องมี
Published: 3 July 2023
185 views

ธรรมยุติกนิกาย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ธรรมยุต" ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่ง ตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวช ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้เข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระธรรมวินัย ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง ไม่ได้ทำไปตามกะเกณฑ์อย่างธรรมเนียมยึดถือเท่านั้นแต่ปฏิบัติด้วยความเข้าใจ ด้วยพระเกียรติคุณที่สมเด็จพระอนุราชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ (พระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก่อนขึ้นครองราชย์) ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและพระปฏิภาณในการแสดงพระธรรมอันเป็นที่เลื่องลือทำให้มีพระภิกษุสามเณรมาถวายตัวเป็นศิษย์ บรรดาคฤหัสน์ข้าราชการ ประชาชนต่างพากันเลื่อมใสไปถือศีลฟังธรรมมากขึ้น หลังจากเป็นที่เลื่อมใส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงได้รับเพ็ดทูลจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดว่าการกระทำของวชิรญาณภิกขุหรือสมเด็จพระอนุราชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ นั้นไม่น่าไว้วางพระทัยอาจเข้าข่ายการซ่องสุมผู้คนและเป็นภัยแก่บ้านเมืองเพื่อเป็นการระงับและยุติคำครหาต่าง ๆ ที่ไม่ควร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเป็นแม่กองสนามหลวงสอบภาษาบาลีและพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ แล้วตั้งกระบวนแห่อย่างธรรมเนียมแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสยังว่างอยู่ ซึ่งเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระวชิรญาณได้ประทับอยู่ ณ พระตำหนักปั้นหยาวัดบวรนิเวศมาโดยตลอดจนเสวยราชย์สมบัติ

ข้อแตกต่างของธรรมยุติกนิกายกับพระมหานิกาย เช่น

การออกเสียงในภาษาบาลี - ในการทำสังฆกรรม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ

ปฏิทินจันทรคติ - ธรรมยุติกนิกายใช้ปฏิทินปักขคณนาวันพระของวัดธรรมยุตจะแตกต่างจากวันพระทั่ว ๆ ไป

การครองจีวร - เนื่องจากธรรมเนียมการนุ่งห่มสมัย ร.3 มักครองจีวรห่มดอง คือ นุ่งสบง ครองจีวรห่มเฉียง พาดสังฆาฏิ แล้วมีผ้ารัดอก แต่หากยึดตามในพระวินัยที่กำหนดให้ถือผ้าไตรจีวร คือ "ผ้าสามผืน" การมีผ้ารัดอกเพิ่มเข้ามาจึงถือเป็นสี่ผืน ดังนั้น ปัจจุบันจึงแยกลักษณะการครองจีวร ว่า พระสงฆ์มหานิกายจะมีผ้ารัดอก

No photo description available.

ลักษณะการครองจีวรปัจจุบัน

ที่มา : เพจTrijeevornOnline

นอกจากนี้ที่เป็นสิ่งเน้นย้ำในการปฏิบัติของธรรมยุติกนิกายที่กล่าวถึงโดยมาก คือ การศึกษาหาความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นข้อยึดถือปฏิบัติที่สำคัญ ให้มีการศึกษาพระธรรมและไม่นำความเชื่อไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแต่ก็มีผู้ที่กล่าวหากว่าการตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายทำให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้นในวงการพระศาสนา แต่เพราะความพยายาามฟื้นฟูจริยธรรมในศาสนาของพระองค์ที่ทรงเห็นการนับถือศาสนาในทางที่ผิด ธรรมยุตินิกายจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเช่นนี้มากกว่าเรื่องการสร้างความแตกแยก

ภาพพระภิกษุสงฆ์นุ่งห่มจีวรลายดอกพิกุล จากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2548)

เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์สมบัติแล้ว พระองค์ยังยึดครองขันติธรรมทางศาสนาและมัชฌิมาปฏิปทา ทรงอนุญาตให้ประชาชนถือศาสนาได้ตามอัธยาศัย แต่พระองค์ชำระความศาสนาให้เห็นด้วยว่ามีบางสิ่งที่ถูกต้องตรงกัน เช่น การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินชู้ภรรยาของผู้อื่น ไม่เสพสุรา อดทนต่อความโกรธ ทุกคนควรซื่อสัตย์จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่กันและกันอีกหลายอย่าง คนทุกชาติทุกศาสนามีความเห็นพร้อมต้องกันว่าต้องทำความดี ไม่ขัดต่อแผ่นดินบ้านเมือง

เพิ่มเติมจากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 


อ้างอิง

เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2553). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ ฝ่าวิกฤตยุคล่าอาณานิคมนำพาสยามสู่โลกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ:, สยามความรู้.

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (2566). ถอดรหัสงานเสวนาพระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จักฯ. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุด มจธ.

อุดม เชยกีวงศ์. (2550). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...