ตลาดน้อยย้อนวันวาน
Published: 31 March 2025
1 views

หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) มีรถโดยสารประจำทางสาย 75 ที่จะพาเราย้อนรอยอดีตผ่านเส้นทางสายเก่า โดยวิ่งผ่านถนนเจริญกรุง ซึ่งถือเป็นถนนสายแรกในกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นตามแบบตะวันตก ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ย้อนวันวานกับถนนเจริญกรุง

ถนนสายนี้ตัดข้ามคลองผดุงกรุงเกษม และต่อมามีการสร้างถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร เพื่อขยายเส้นทางแหล่งค้าขายของสยามในสมัยนั้น ถ้าใครเคยนั่งรถสาย 75 ผ่านถนนเจริญกรุง อาจรู้สึกว่า มันเป็นถนนธรรมดาเส้นหนึ่ง ดูจะคับแคบเกินไปเมื่อเทียบกับสภาพการจราจรในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยโรงเรียน วัด ชุมชน ห้างสรรพสินค้า แต่หากกลับไปในอดีตที่สภาพความเป็นอยู่ อาศัยกันตามเรือนแพ บ้านอยู่บนน้ำ หรือบ้านติดแม่น้ำลำคลอง จึงไม่แปลกที่ชาวสยามสมัยนั้นกลับคิดว่า ถนนเส้นนี้ กว้างใหญ่เสียเกินจนประชาชนสงสัยว่า ใครจะมาเดิน

การตัดถนนอย่างตะวันตก พ.ศ. 2404 ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 19,700 บาท ชาวตะวันตกพากันเรียก New Road ชาวจีนพากันเรียก ซินพะโล้ว รัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานนามถนนนี้อย่างเป็นทางการว่า "เจริญกรุง" การสร้างถนนสายนี้มีเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างช่วงคูเมืองตอนในถึงถนนตก เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กองก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน มีพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน และมีนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (ต้นสกุล เศวตศิลา) รองกงสุลอังกฤษและเรียนวิศวกรรรมโยธา มาช่วยสำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังให้ โดยถนนสร้างเป็นถนนถมดินและทรายอัดแน่น ปูพื้นผิวด้วยอิฐ ผิวการจราจรแบ่งเป็นสองแนว สร้างเสร็จในปี 2407 และต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นมาก สมัยหลังจึงได้มีการขยายผิวการจราจร เทคอนกรีต และลาดยางพื้นผิวให้ได้ใช้งานเป็นเส้นทางคมนาคมมาถึงปัจจุบัน

จากภาพเส้นทางใน Google Map มุมไกล ๆ ของกรุงเทพและโดยรอบ ถนนเจริญกรุงจะตัดยาวขึ้นเส้นสีส้มไปอีก แต่ที่เราหยุดบริเวณที่เส้นสีส้มนี้ คือ เส้นทางย้อนวันวานสู่ตลาดน้อย

ได้รับแรงบันดาลใจจากคลิปหนึ่งใน Youtube Channel ตุ๊ยไดอารี่ ที่เริ่มต้นจากถนนเจริญกรุง ซอย 22 แล้วผู้เขียนหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ทุกคนไปชมเส้นทางนี้ได้อย่างครบเนื้อหาสาระกัน

ตลาดน้อย เป็นย่านชุมชนจีนที่ขยายตัวของสำเพ็ง ชาวจีนเรียกว่า "ตะลัคเกียะ" ซึ่งแปลเป็นไทยว่าตลาดน้อย เราสามารถเยี่ยมชุมชนตลาดน้อยเพื่อสัมผัสวิถีแบบเก่าสไตล์จีนในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ตั้งแต่ลงป้ายรถเมล์หน้าโรงแรมตั๊กหลักเกี้ย ก่อนถึง ซอยเจริญกรุง 22 ผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวรูตลาดน้อยเป็นก๋วยเตี๋ยวบะหมี่แห้งหมูอบน้ำผึ้ง เปิดทุกวัน ปิด 4 โมงเย็น เมื่อเข้าซอยแล้วจะเจอร้านขนมปิ้งเตาถ่าน เดินตรงขึ้นไปเจอสามแยก ผ่านโรงเรียนอนุบาลจงจิตต์ ด้านขวาเป็นโรงเรียนสารพัดช่างสี่พระยา สาขาเอี่ยมละออ เมื่อเดินตรงขึ้นไปต่อเจอร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่า ซึ่งตรงข้ามเป็นตรอกศาลเจ้าโรงเกือก ในตรอกนี้เป็นกำแพงสตรีทอาร์ทให้สามารถ่ายรูปริมทางได้ มีร้านคาเฟ่ Mother Roaster ที่ชั้น 2 ซึ่งคงรักษาสภาพของบ้านเก่าไว้ ตั้งแต่พื้นไม้ ประตูหน้าต่าง หากเดินตรงขึ้นไปสุดท้าย จะพบกับศาลเจ้าโรงเกือก (ฮ้อนหว่องกุล)

ศาลเจ้าโรงเกือก

ศาลเจ้าของชาวจีนแคะ ในหมู่บ้านชาวจีนฮกเกี้ยน สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2433 สิ่งที่น่าสนใจในศาลเจ้า คือ ป้ายศิลา เป็นอักษรจีนคาดว่าในพ.ศ. 2433 กล่าวถึงพ่อค้าจีนที่เชิญรูปเคารพของเทพเจ้าฮ้อนหว่องกุลมาประดิษฐานในไทย ก่อนที่จะมีศาลเจ้าให้เราเห็นในปัจจุบัน และในศาลมีเทพเจ้าปุนเถ้ากง ที่เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่ประทานโชคลาภและความรุ่งเรืองด้วย มีรูปอารักษ์แบบจีนและอารักษ์แบบไทย ทั้งซ้ายและขวา เมื่อเดินออกจากศาลเจ้า เดินย้อนไปตามทางกระเบื้องเทาขาว เจอสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย เจอบ้านริมน้ำ เดินเข้าไปในตรอกแคบ ๆ ขวามือจะเป็นโซวเฮงไถ่ คฤหาสน์จีนโบราณสไตล์ฮกเกี้ยนที่อยู่มานานกว่า 250 ปี

บ้านโซวเฮงไถ่

บ้านของตระกูลโปษยะจินดา หรือ ตระกูลโซว สันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2340 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีค่าเข้าชม เป็นบ้านที่มีการวางผังเรือนแบบสี่เรือนล้อมลาน โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้สักทอง เป็นอาคารสี่หลังล้อมลานกว้างกลางบ้านสร้างแบบอาคารไม้สองชั้นเหมือนเรือนไทยที่มีใต้ถุน ปัจจุบันปรับกลางลานบ้านเป็นสถานที่สอนดำน้ำ จึงมีคนเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านดำน้ำ เพราะเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำด้วย เมื่อออกจากบ้านโซวเฮงไถ่แล้วเลี้ยวขวาเดินไปตามทาง เจอรถโบราณ เดินตรงไปเจอสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย เดินตรงขึ้นไปผ่านคาเฟ่ชาไทย ผ่านร้านเสื้อผ้าและหัตถกรรม ผ่าน Guest House ผ่าน PhotoCafe แล้วเดินตามเลี้ยวโค้งทางด้านซ้ายจะพบกับศาลเจ้าโจวซือกง

ศาลเจ้าโจวซือกง

จากบทความของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์กล่าวถึงว่า เป็น 1 ใน 9 ของศาลเจ้าที่นักท่องเที่ยวไต้หวันต้องมากราบไหว้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า (วัดซุนเล่งยี่) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยน สร้างใน พ.ศ. 2347 เพื่อประดิษฐานเทพเจ้าโจวซือกง (เทพเจ้าพระหมอ) เจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ และเทพเจ้าอื่น ๆ ที่คนจีนให้ความเคารพ ภายในงดงามด้วยสถาปัตยกรรมจีนโบราณ เมื่อเดินออกจากศาลเจ้าโจวซือกงเราจะเจอกับฮงเกซียงกง คาเฟ่ติดริมแม่น้ำสไตล์บ้านจีนโบราณ ตกแต่งแบบโรงน้ำชา อายุกว่า 150 ปี เดินตรงขึ้นไปแล้วเลี้ยวซ้ายออกมาจะเจอท่าน้ำภาณุรังษี พบกับพิพิธตลาดน้อย

พิพิธตลาดน้อย

พิพิธภัณฑ์ตลาดน้อย เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็นโรงกลึงเก่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ทำชิ้นส่วนประกอบเรือ เครื่องจักร และโรงสีข้าว เป็นแหล่งค้าขายเครื่องจักรในนาม "เซียงกง" ภายหลังเลิกกิจการพื้นที่แห่งนี้ถูกทิ้งไว้จนชาวบ้านและรัฐอย่างกรมธนารักษ์ร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เลียนแบบอาคารดั้งเดิมของโรงกลึงในอดีต มีจุดจัดแสดงนิทรรศการแบ่งเป็น 3 ชั้น รวมเนื้อหาของประวัติศาสตร์ตลาดน้อยไว้ในพื้นที่แห่งนี้

ยังมีอีกหลายสถานที่ในตลาดน้อยให้ได้ไปชม หากลองไปจะพบหลากหลายความรู้สึกในทุกจุด ทั้งกินอร่อย เที่ยวชิล ชมทัศนียภาพ บรรยากาศแปลกตา ถ่ายรูปเป็นความทรงจำ อย่าลืมเรียนรู้วิถีชุมชนปิดท้าย สังเกตดูได้ว่า บทความนี้ยังไม่มีรูปภาพ รอท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมประสบการณ์จริงแล้วลงคลิปหรือถ่ายรูปแล้วอัพลิงก์มาฝากที่คอมเม้นนี้ได้

ข้อมูลอ้างอิง

SPRANT, jEedWonDeR. 2565. บ้านโซวเฮงไถ่ ตำนานบ้านจีนยุคแรกของกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://www.baanlaesuan.com/266565/houses/sohengtai/.

The Standard Team. 2563. 5 กุมภาพันธ์ 2504-สร้างถนนเจริญกรุง. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://thestandard.co/onthisday05022404/.

ตุ๊ยไดอารี่. 2568. ตลาดน้อย พาเดินเข้าทางเจริญกรุง22 ถนนดีเดินชิล ถ่ายรูปสวยตลอดทาง. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://youtu.be/cZBzzFCFcKU?si=5DCzOwcPlJwoHoRr.

นักรบ มูลมานัส. 2561. กรุงเทพฯ ราตรี จุดเริ่มต้นการท่องราตรีของชาวกรุงรุ่นปู่ย่าทวดที่มาพร้อมการตัดถนน รถราง ไฟฟ้า และรถยนต์. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://readthecloud.co/notenation-4/.

ป้อมยาม. 2565. ไหว้พระหมอ"ศาลเจ้าโจวซือกง"ให้คุ้มครอง"ดวง"ด้านสุขภาพ ไม่ป่วย ไม่ไข้. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1003366.

ผู้จัดการออนไลน์. 2568. 5 ก.พ. จุดเริ่มต้น "ถนนเจริญกรุง" ถนนสายแรกของไทย. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://mgronline.com/travel/detail/9680000011467.

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์, สาระ มีผลกิจ และยุทธนาวรากร แสงอร่าม. 2568. เส้นทางพระจอมเกล้า : ผังเมืองและการเติบโตของพระนครและเมืองสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. หน้า35-54. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุดารา สุจฉายา. 2562. "ฮ้อนหว่องกุง" ศาลเจ้าจีนแคะในหมู่บ้านฮกเกี้ยน. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://www.muangboranjournal.com/post/ฮ้อนหว่องกุง

อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี. 2564. พิพิธภัณฑ์ตลาดน้อย 'ตั๊กลักเกี้ย' ริมคุ้งน้ำเจ้าพระยา. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2568. URL: https://themomentum.co/cultureclub-taladnoi-museum/.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...