ฉลองพระองค์ทรงศีล
Published: 12 June 2023
14 views

ภาพฉายของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงศีลมีผ้าขาว น้อยคนที่จะสังเกตเห็นว่า ทรงภูษาโจงสีแดงอยู่ด้วย (กางเกง) จึงเป็นที่มาของความสงสัยว่า ภาพนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร จากหนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้คำอธิบายภาพประกอบไว้ว่า ภาพนี้ทรงฉายพระองค์เดียวเป็นภาพสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2410 (พระองค์เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2411)

สู่ร่มกาสาวพักตร์

ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชเป็นเวลานานถึง 27 พรรษา เมื่อพระองค์ผนวชได้ประมาณ 2 สัปดาห์ สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดำรัสสั่งมอบราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใด ซึ่งขณะนั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ทรงเจริญพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ 17 ปี แม้ไม่ใช่โอรสองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสีแต่ทรงเป็นที่ยำเกรงนับถืออยู่มาก จึงทำให้ที่ประชุมในขณะนั้นมีความเห็นว่าควรถวายราชสมบัติสู่พระองค์ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนามที่นิยมเรียกขณะนั้น "เจ้าฟ้ามงกุฎฯ") ก็มีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับรู้ทางธรรมอย่างลึกซึ้งและทรงศึกษาหาความรู้ในวิทยาการแขนงอื่นๆ โดยพระองค์จะทรงถือว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่มีข้อขัดแย้งอะไรกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทรงมีโอกาสเสด็จเที่ยวธุดงค์ ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศและทราบความสุขทุกข์ของราษฎร์ตามหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง สำหรับการเล่าเรียนผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุสมัยนั้นมีเป็น 2 อย่าง เรียกว่า คันถธุระ คือ เรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยพยายามอ่านพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัย และ วิปัสสนาธุระ คือ เรียนวิธีที่จะพยายามชำระใจตนเองให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งการเรียนคันถธุระต้องใช้เวลาเรียนหลายปีเพระต้องเรียนภาษามคธก่อน ถึงจะอ่านพระไตรปิฎกให้เข้าใจได้ เจ้านายส่วนใหญ่ที่ผนวชไม่นานซัก 1 พรรษาจึงไม่มีเวลาเรียนคันถธุระ เรียนแต่วิปัสสนาธุระ เราจึงสามารถใช้คำว่า "รับรู้ทางธรรมอย่างลึกซึ้ง" แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้พระองค์มิได้ทรงคัดค้านเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ แต่พระองค์ทรงใช้อัตถาธิบายในทางปรัชญา กรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือชั่วย่อมติดตามอย่างหลีกหนีไปไม่พ้น นอกจากที่พระองค์ทรงตั้งนิกายธรรมยุติกนิกายแล้ว พระองค์ยังปรับธรรมเนียบมการนมัสการพระเช้าค่ำ ทรงพระราชนิพนธ์บทสวด จุณณิยบท ที่ใช้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระองค์จึงทรงพยายามให้ประชาชนของพระองค์เข้าใจในหลักธรรมเช่นกัน

ดังเช่นที่เห็นในรูปพระองค์ทรงฉลองพระองค์ทรงศีลและเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ เพื่อให้ข้าราชบริพารเข้าใจในเนื้อหาของหลักธรรม ซึ่งเมื่อครั้งทรงผนวชก็ทำเช่นเดียวกัน ทรงเผยแพร่หลักธรรมสู่ราษฎร ไม่โปรดเขียนหนังสือไว้เทศน์ เพราะจะฝึกหัดศิษย์ให้ปฏิบัติตาม อธิบายหลักธรรมหลักที่ยุ่งยากและซับซ้อนให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรนี้

พระราชทานธรรมเทศนาให้กรมฝ่ายในฟังในวันวิสาขบูชา ทรงเครื่องทรงศีลภูษาโจงสีแดง มีผ้าขาวทับ ทรงสะพักฉายเมื่อ พ.ศ. 2410 เชื่อกันว่าภาพนี้ทรงฉายพระองค์เดียวเป็นภาพสุดท้าย

เพิ่มเติมจากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2548). ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สำนักหอสมุด, วรจิตติ์ ปิยะภาณี, นิตยา บุญปริตร, & ลดาวัลย์ ศรีธวัช ณ อยุธยา. (2548). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

พระเทพมงคลสุธี. (2547). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการพระศาสนา: พระราชประวัตินานานิพนธ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...