จากขยะสู่แสงสว่าง
Published: 22 February 2024
25 views

รัฐบาลไทยเสนอแผนพัฒนาพลังงานระยะยาวของประเทศไทย (Energy Blueprint) จากข้อมูลแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP) พบว่า มีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตกระแสไฟฟ้า500 MW จากขยะมูลฝอยให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2036 ซึ่งรัฐบาลจะช่วยส่งเสริมการลงทุนเพื่อจัดการขยะแก้ปัญหาขยะชุมชนด้วย เพื่อศึกษาสถานการณ์ขยะมูลฝอยโดยพิจารณาจากข้อมูลทางสถิติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะลดลงไปเพียง 1-2 ล้านตันในบางปีเท่านั้น 

สำหรับอัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคน จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2564 พบว่า เกิดขยะต่อประชากร 1 คน ท่านละประมาณ 1 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อวันซึ่งลดลงจาก พ.ศ. 2563 เพียง 200 กรัมเท่านั้น ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดนี้จึงถือว่า ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศไทยยังไม่เป็นรูปธรรมถึงในระดับตัวบุคคลเท่าใดนัก

Waste หรือ มูลฝอย คือ สิ่งของที่เหลือทิ้งจากการผลิตหรือการบริโภคเป็นสิ่งเสื่อมสภาพใช้การไม่ได้แล้ว สำหรับของเหลือทิ้งประเภทที่เป็นของแข็ง เรียกว่า “Solid Waste” มีทั้งที่เป็นขยะมูลฝอยที่เกิดจากชุมชน ขยะในครัวเรือนทั่วไป เศษอาหาร สิ่งทอ เศษพลาสติก ขยะอุตสาหกรรม ขยะอันตราย

ส่วนขยะอื่น ๆ ที่ไม่เป็นของแข็ง เรียกว่า “Non-solid waste” พวกของเหลว เช่น น้ำเสีย รวมถึงก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Solid waste เป็นขยะที่ทุกคนมีส่วนต่อการเพิ่มปริมาณและใกล้ตัวมากที่สุดอย่างน้อยเราก็ถูกรบกวนจากการส่งกลิ่น

ทำไมขยะถึงมีกลิ่น

จากการศึกษาข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมเป็นที่น่าสนใจว่า ตัวการที่ทำให้ขยะน่ารังเกียจเพิ่มขึ้นนั้นคือ “ความชื้น” เพราะความชื้นในอากาศส่งผลกระทบต่อการเติบโตของแบคทีเรียอย่างขยะเปียกที่มีปริมาณความชื้นในตัวเองมากเกินครึ่งพวกขยะที่มาจากเศษอาหาร รวมทั้งซากพืชและซากสัตว์จึงส่งมลภาวะทางกลิ่นรบกวนผู้คนมาก สำหรับวิธีการจัดการขยะจึงต้องอาศัยวิธีการนำความชื้นออกไปให้ได้มากที่สุด โดยทั่วไปที่เห็นการจัดการขยะมี 4 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

1) การฝังกลบตามหลักสุขภิบาล – ใช้กับของเสียที่ไม่เป็นอันตราย กลบบนพื้นดิน กลบบนร่อง 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ภาพ : เฟซบุ๊กกรมควบคุมมลพิษ

2) การฝังกลบอย่างปลอดภัย - ของเสียที่ถูกทำลายฤทธิ์แล้ว

ภาพ : เว็บไซต์เบตเตอร์เวิร์ลกรีน

3) การเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fue: RDF) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตได้ ส่วนใหญ่เป็นการนำขยะจากชุมชนมาปรับปรุงองค์ประกอบทั้งทางเคมีและทางกายภาพเพื่อให้ได้เป็นเชื้อเพลิงขยะ สำหรับประเภทของขยะที่นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงมูลฝอยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

3.1) ขยะที่ย่อยสลายยากและให้ความร้อนสูง เช่น ถุงพลาสติก กล่องบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก กล่องนม กล่องขนม ขยะประเภทนี้มักจะมีค่าความร้อนสูงแต่หากไม่มีการควบคุมการเผาไหมที่ดีพอ มักจะมีปัญหาด้านมลพิษจากก๊าซที่เผาไหม้ตามมาภายหลัง

3.2) ขยะชีวมวล เช่น เศษกิ่งไม้ เปลือกไม้ หรือเมล็ดผลไม้ ซึ่งขยะกลุ่มนี้มักจะมีค่าความร้อนต่ำ หากมีการนำขยะชีวมวลกลุ่มนี้ผสมกับขยะกลุ่มแรกในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ได้ขยะเชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนสูงสามารถลดปัญหามลพิษจากการนำขยะเชื้อเพลิงไปใช้งานเนื่องจากใช้การเผาไหม้น้อย แต่ขยะชีวมวลมีปริมาณไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล

ใน STP 832 ตามมาตรฐาน ASTM สามารถแบ่งประเภทของขยะเชื้อเพลิงตามลักษณะและกระบวนการเป็น 7 ประเภท ได้แก่

RDF 1 : MSW (Municipal Solid Wastes) = คัดแยกส่วนจากชิ้นขยะใหญ่ที่เผาไหม้ได้ออกมาด้วยมือ

RDF 2 : Coarse RDF = คัดส่วนที่เผาไหม้ไม่ได้ออกไป บดหรือตัดขยะมูลฝอยอย่างหยาบ ๆ

RDF 3 : Fluff RDF = คัดแยกส่วนที่เผาไหม้ไม่ได้ออก เช่น โลหะ แก้วและอื่น ๆ มีการบดหรือตัดจนทำให้ 95% ของขยะมูลฝอยที่คัดแยกแล้วมีขนาดเล็กกว่า 2 นิ้ว

RDF 4 : Dust RDF = นำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการทำให้อยู่ในรูปของผงฝุ่น

RDF 5 : Densified RDF = ขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการอัดแท่งโดยให้มีความหนาแน่นมากกว่า 600 kg/m3

RDF 6 : RDF Slurry = นำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการให้อยู่ในรูปของ Slurry (สารละลาย)

RDF 7 : RDF Syn-gas = ขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้ มาผ่านกระบวนการ Gasification เพื่อผลิต Syn-gas ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงก๊าซได้

“การทำแห้ง” เป็นตัวการสำคัญ

จะเห็นว่า ตลอดลักษณะการแบ่งกระบวนการจัดการขยะนั้นมีส่วนสำคัญคือการทำให้แห้ง เลี่ยงจากความชื้น ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบดินหรือการควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมนำมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เผาไหม้ได้ ดังเช่นการจัดการขยะในวิธีที่ 4

4) นวัตกรรม Biodry นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้วิธีธรรมชาติช่วยให้ความชื้นค่อย ๆ ลดลง และป้องกันส่วนที่ทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้น เช่นการไม่ให้ความร้อนหรืออากาศผ่านเข้าไปได้  ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม Biodry มาช่วยลดความชื้นของขยะอินทรีย์ทั้งหลาย รวมทั้งเศษเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โรงงานแป้งมัน โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ฯลฯ ที่มักจะส่งกลิ่นรบกวนอย่างงานวิจัย มจธ.ที่มีหลายสำนักงานข่าวกล่าวถึงในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อช่วง พ.ศ. 2566 เดือนพฤษภาคมนั้น คือ การพัฒนากระบวนการทำแห้งชีวภาพเพื่อปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศิลป์ วังยาว นักวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ.

ภาพ : MCOTDigital

อาจารย์แบ่งการทดลองเป็น 3 ระยะ ในช่วงเวลา 5-7 วัน เพื่อไล่ความชื้นในปริมาณอากาศและการหมุนเวียนอากาศที่แตกต่างกันโดยทดสอบตัวแปรและเปรียบเทียบข้อได้เปรียบของกระบวนการ Biodrying เพื่อการลดความชื้นและเพิ่มความร้อนให้เชื้อเพลิงมูลฝอย 

ดูเหมือนว่าขยะที่เป็นสิ่งสกปรกและน่ารังเกียจจึงทำให้ยากต่อการจัดการ แต่ในปัจจุบันเราหาต้นตอของความน่ารังเกียจนั้นเจอแล้วแถมผลักดันให้มันมีประโยชน์มากขึ้นด้วย เพียงแค่พยายามทำมันให้ “แห้ง” และควบคุมปัจจัยด้านความชื้นเพียงเท่านั้นเพื่อการปรับเปลี่ยนสภาพ สร้างเป็นขยะเชื้อเพลิงไปสู่การผลิตไฟฟ้า

แม้ว่านวัตกรรมจะเกิดขึ้นแต่ถ้าเราไม่รู้จักสังเกตลักษณะของสภาพขยะ พยายามจัดการช่วยคัดแยก ยังคงนิ่งเฉยกับ ทำเพียงแค่ผลักมันออกไปจากตัวเราเท่านั้น ขยะจะล้นโลกต่อไป หวังว่าทุกท่านจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ โดยแยกขยะก่อนเพื่อมุ่งหวังสู่คุณค่าจากขยะให้ผลิตเป็นไฟฟ้าได้หลังจากอ่านบทความนี้เลย

ข้อมูลอ้างอิง :

ยกระดับคุณภาพ “เชื้อเพลิงขยะ” มจธ. พัฒนากระบวนการทำแห้งชีวภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ (mcot.net)

ความชื้นในอากาศ ภัยร้ายที่ต้องระวัง สุขภาพเสียไม่รู้ตัว | LG Thailand

Waste-to-energy (MSW) in depth - U.S. Energy Information Administration (EIA)

การผลิตไฟฟ้าจากขยะในประเทศไทย มีเทคโนโลยีและแหล่งของเสียใดบ้างที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร | SDG Move

ระบบกำจัดขยะ – Hydrotek.co.th

เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel: RDF) | Clover Power | Clover Power

6 เทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะ - สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (cmu.ac.th)

refuse-derived-fuel-to-electricity-IJERTV2IS90930.pdf

แยกขยะได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด 10 ข้อดีของการแยกขยะก่อนทิ้ง (greennetworkthailand.com)

การคัดแยกขยะมูลฝอย.pdf (chamrae.go.th)


Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...