การถ่ายรูปในสมัยรัชกาลที่ 4
Published: 23 August 2023
3 views

จากงานเสวนา "พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก : Modernization เข้าโลกตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม" ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. รับชมการบรรยายเต็มรูปแบบที่ KMUTT Facebook Video ย้อนหลัง

โดย ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

กษัตริย์กรุงสยามรัชกาลที่ 4 ทรงใช้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ โดยพระองค์ใช้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์ เป็นรูปถ่ายฟิล์มกระจกรูปแรก ส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ซึ่งการถ่ายภาพในสมัยนั้นเริ่มมีเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว แต่มีความเชื่อว่า การถ่ายรูปหรือการสร้างรูปของตนเองจะทำให้อายุสั้น แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงไม่ดำริเช่นนั้น ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ฉายพระรูป 

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอห์น ทอมสัน เข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2408 ณ ลานพระที่นั่งอนันตสมาคม สมาคม พระบรมฉายาลักษณ์นี้ถูกอัญเชิญไปจัดแสดงในงานมหกรรม Exposition Universal ที่กรุงปารีสใน พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยะราชภูษิตาภรณ์ในฉลองพระองค์ครุยกรองทอง สอดทองแล่งประดับด้วยเลื่อมหรืออัญมณีตามแบบโบราณราชประเพณี ทรงพระภูษาโจงเยียรบับ ทรงพระชฎามหากฐิน ทรงถือธารพระกร ไม้ชัยพฤกษ์ในพระหัตถ์ซ้าย ทรงฉลองพระบาทเชิงงอนทองคำลงยาประทับบนพระที่นั่งทรง (ไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ 2558:38-39)

นอกจากนี้ยังมีพระรูปปั้น โดยพระรูปปั้นแรกของท่านอยู่ที่พระนครคีรี (ปัจจุบันอยู่ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร)

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์แรก

ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนเล่าในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม 4 หน้า 190 เกี่ยวกับการถ่ายรูปความว่า “...เมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปนั้นไม่ค่อยมีใครยอมถ่ายรูปกัน เพราะเกรงว่าจะเอามาใช้ทำร้ายด้วยเวทมนตร์... แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นผู้นำประชาชนไม่ให้เชื่อในสิ่งงมงาย...” (ศักดา ศิริพันธุ์ 2535 :23)

อ้างอิง

ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. (2558). สยาม ผ่านมุมกล้องของจอห์น ทอมสัน 2408-2409 รวมทั้งนครวัดและเมืองชายฝั่งประเทศจีน. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์

ศักดา ศิริพันธุ์. (2535). กษัตริย์และกล้อง =: King & Camera. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธา.

สาระ มีผลกิจ. (2566) เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑. ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ และสาระ มีผลกิจ. (2566). หนังสือประกอบการบรรยาย เรื่อง พระจอมเกล้าฯ ในมิติที่คุณไม่รู้จัก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี . กรุงเทพฯ : มปพ.

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...