กระดูกพรุนภัยเงียบที่ป้องกันได้
Published: 14 March 2024
14 views

เมื่อไม่นานมานี้ คุณป้าข้างบ้านร่างบางท่านหนึ่งไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ มาก่อนสะดุดรองเท้าแล้วล้มเบา ๆ โดยการใช้ข้อมือรับน้ำหนักตัวเองไว้ ผลปรากฏว่า ข้อมือหัก นอกจากนี้ยังมีคุณลุงคุณป้าข้างบ้านอีกหลายท่านเพียงล้มนิดๆหน่อยๆ ก็กระดูกหักต้องเข้าเฝือกเป็นเวลานานเพื่อให้เซลล์ยึดติดเพราะร่างกายมีสภาพเก่าแล้วไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ไวเหมือนเดิม พอสอบถามดูก็จะรู้ว่า คุณลุงคุณป้าส่วนใหญ่ไม่ได้ตรวจวัดดัชนีมวลกระดูกกันเลย เพราะสนใจกับโรคเรื้อรังหลักของวัยชราอย่างเบาหวาน หัวใจ ความดัน เมื่อเทียบสถิติจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติก็พบว่า ประชากรไทย 80-90% ที่ยังไม่ได้รับการประเมินหรือรักษาโรคกระดูกพรุน จึงถือว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่มองข้ามไม่ได้

โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมมวลกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเพศหญิงกระดูกเล็กกว่าและฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีหน้าที่รักษาแคลเซียมไว้ในร่างกายจะลดลงน้อยลงจากผู้หญิงที่อายุมากขึ้นโดย 5 ปีแรกของวัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็วประมาณ 3-5% ต่อปี อีกทั้งผู้หญิงที่ผ่าตัดเอารังไข่ออกจะเกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกช่วงหลังการผ่าตัด

นอกจากข้อสังเกตของเพศหญิงที่มีภาวะกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายแล้ว ยังมีพฤติกรรมของชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้ ดังต่อไปนี้

  1. การทำงานออฟฟิศทั้งวัน ไม่โดนแดด เพราะแสงแดดเป็นแหล่งช่วยสร้างวิตามินดีให้ร่างกายได้ง่ายมากที่สุด วิตามินดีเป็นตัวช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม ดังนั้น เราจึงควรได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในทุกวัน วันละ 10-15 นาที
  2. พฤติกรรมการทานโซเดียมมากเกินไป ชอบทานขนมขบเคี้ยวที่มีปริมาณเกลือสูง โปรตีนเชคที่มีปริมาณโซเดียมสูง หากเรารับโปรตีนมากเกินไปจะทำให้ร่างกายต้องขับส่วนเกินออกทางปัสสาวะที่ขับแคลเซียมออกมาด้วย ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมในปัสสาวะมากขึ้น
  3. ภาวะไทรอยด์ เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงเกินไปเป็นเวลานานจะทำให้สูญเสียแคลเซียม เพราะต่อมพาราไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย โดยแคลเซียมนั้นจะไหลเวียนเข้าและออกจากกระดูกตลอดเวลาซึ่งการสร้างกระดูกจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อในเลือดมีแคลเซียมและฟอสเฟตในปริมาณที่เพียงพอ
  4. พฤติกรรมดื่มเที่ยว ด้วยแอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ ทำให้ลดการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าร่างกาย
  5. ภาวะโรคทางลำไส้ที่ดูดซึมอาหารไม่ดีจะมีผลต่อปริมาณการดูดซึมแคลเซียมเข้าร่างกาย
  6. พันธุกรรม พบว่า 80% ของภาวะกระดูกพรุนมาจากพันธุกรรมส่วนอีก 20% ขึ้นอยู่กับอาหารการกิน โดยชาวผิวขาวพบเป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุด รองลงมาเป็นชาวผิวเหลือง (ชาวเอเชียอย่างเรา) และชาวผิวดำ ลดลงมาตามลำดับ


ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำด้านอาหารไว้มากมายสำหรับการป้องกันภาวะกระดูกพรุน เช่น การรับประทานปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง ธัญพืชอย่างตระกูลถั่วเมล็ดแข็ง งาดำ เต้าหู้ก้อน การดื่มนม เพราะมีแคลเซียมสูงเสริมสร้างกระดูก รวมถึงการทานผลไม้อย่างกีวี กล้วย มะละกอ ที่ช่วยทำให้ลำไส้สะอาดดูดซึมสารอาหารเข้าร่างกายได้ดีขึ้น นอกจากข้อแนะนำด้านอาหารแล้วการตรวจวัดดัชนีมวลกระดูกก็เป็นเรื่องสำคัญโดยการคิดค้นวิจัยในปัจจุบันพยายามที่จะทำให้การตรวจกระดูกที่อยู่ในร่างกายเราเป็นเรื่องง่ายขึ้น

กระดูกอยู่ในร่างกาย เราจะมองเห็นได้อย่างไร

กระดูกเป็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายจะตรวจวัดก็ต้องมองเห็นโครงสร้างภายในขนาดเล็กและใช้แสงรังสีที่ลอดผ่านเข้าไปได้ดังเช่นเครื่องฉายแสงรังสีเอ๊กซ์ที่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยกระบวนการที่ยากเช่นนี้จึงทำให้การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นการตรวจที่มีราคาสูงและต้องเข้าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้การเข้าถึงเครื่องมือตรวจวัดมวลกระดูกของประชาชนที่ง่ายขึ้น รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศซกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. (SMART LAB) จึงคิดค้นเครื่องคัดกรองมวลกระดูกเบื้องต้นร่วมกับมหาวิทยาลัยคานาซาวา ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้แสง LED ที่มีความยาวคลื่นเฉพาะทางและสามารถแทรกเข้าสู่กระดูกของมนุษย์ได้ เมื่อยิงแสงเข้าไปจะมีส่วนสะท้อนออกมา และนำค่าที่ได้นั้นไปเปรียบเทียบกับเครื่องมาตรฐานเพื่อวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือปริมาณแคลเซียมสูงหรือต่ำได้ การดูดซับแสงหรือดูจากการสะท้อนจะนำไปเปรียบเทียบค่ามาตรฐานด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ พบว่า เบื้องต้นสามารถคัดกรองความหนาแน่นของกระดูกได้แม่นยำถึงร้อยละ 71 ตามหลักเกณฑ์ของเครื่องมือแพทย์ จึงถือว่า “เครื่องคัดกรองโรคกระดูกพรุน ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแบบพกพาด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นเครื่องตรวจคัดกรองเครื่องแรกของโลกที่พกพาได้ น้ำหนักเบา

ภาพจากเว็บไซต์ KMUTT News

นอกจากการผลิตเครื่องแบบใหม่ยังมีการใช้เทคนิคของเครื่องเอกซเรย์สามมิติให้ตรวจวัดได้ละเอียดขึ้น ดังกรณีของเครื่องเอกซเรย์สามมิติระบบแสงซินโครตรอนจะให้รายละเอียดของโครงสร้างกระดูก การทำงานภายในท่อสุญญากาศของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ทำให้อิเล็กตรอนปลดปล่อยแสงขนานที่มีความเข้มสูงกว่าแสงจากดวงอาทิตย์ที่เรามองเห็น โฟตอนหรือแสงขนานจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทยมีสเปกตรัมครอบคลุมหลายความถี่ นักวิจัยสามารถเลือกเฉพาะบางความถี่ เช่น รังสีเอกซ์ และอินฟราเรด มาใช้ศึกษาโครงสร้างแข็งและโปรตีนของกระดูกตามลำดับ เทคโนโลยีถ่ายภาพเอกซเรย์สามมิติความละเอียดสูงจากนักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนทำให้เห็นโครงสร้างภายในกระดูกได้ชัดเจนกว่าที่เคย

Bone 1 รปกระดกพรนในหนทกนเกลอ

รูปกระดูกพรุนจากถ่ายภาพเอกซเรย์สามมิติของสถาบันวิจัยแสงซินโครตอน ภาพจากเว็บไซต์

ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเข้าถึงภาวะป้องกันโรคกระดูกพรุนของคนไทยมีช่องว่างจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก และต้องเฝ้าระวังให้กับสุขภาพตนเองจากการตรวจเช็คโรคเรื้อรังก่อน จึงทำให้กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สูญเสียมวลกระดูกไปมากตอนเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว อีกทั้งภาวะกระดูกพรุนเกิดจากพันธุกรรมถึง 80% อีก 20% ป้องกันได้จากการทานอาหารให้ดีมีประโยชน์ จึงเรียกได้ว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ ทั้งนี้นอกจากการทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย นวัตกรรมทางการแพทย์ก็พัฒนาขึ้นทำให้เราเข้าถึงการตรวจวัดมวลกระดูกได้ง่ายขึ้นและการตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของโรคกระดูกพรุนและคอยติดตามไม่ให้ภาวะกระดูกพรุนเป็นเรื่องที่ เงียบ อีกต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง

สาเหตุ และ อาการของภาวะกระดูกพรุน ที่ไม่ควรมองข้าม | รพ. นนทเวช (nonthavej.co.th)

5 กลุ่มอาหารสำคัญช่วยป้องกันกระดูกพรุน และเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง | โรงพยาบาลพญาไท (phyathai.com)

มองกระดูกด้วยแสงซินโครตรอน (slri.or.th)

นวัตกรรม“เครื่องคัดกรองมวลกระดูก”แบบพกพา เครื่องแรกของโลก ฝีมือนักวิจัย มจธ. และ ม.คานาซาวา - KMUTT

IOF and APOA urge orthopaedic surgeons to play a role in secondary fracture prevention | International Osteoporosis Foundation

"โรคกระดูกพรุน" ความเสี่ยงคนท้อง-หญิงหมดประจำเดือน มีโอกาสกระดูกหักสูง (springnews.co.th)

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...