"อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เช่นเดียวกับที่อินเทอร์เน็ตเคยทำมาแล้ว หรืออาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ" - Kevin Ashton ผู้เริ่มแนวคิด Internet of Things
หมายเหตุ : จาก X ของ Monnit Sensors
คำคุ้นเคยที่ทุกคนรู้จักกันอย่างดีเรียกสั้น ๆ ว่า "ไอโอที" IoT หรือ Internet of Things ในภาษาไทยเรียกว่า อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งโดยมีกรอบแนวคิดของ IoT ไว้ว่า เป็นระบบโครงข่ายที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หลากหลายชนิด ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์โครงข่าย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์ และวัตถุต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เป็นผลให้สามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างอัตโนมัติส่งผลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายยิ่งขึ้น (ธนากร ศรีบัวลา, 2563)
การเชื่อมต่ออุปกรณ์ของ IoT
แน่นอนว่า อินเทอร์เน็ตจะอยู่ในทุก ๆ สิ่งได้นั้นต้องมีการเชื่อมต่อด้วยกันเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงสรุป 4 รูปแบบมาให้ได้รู้จักกัน
1. การเชื่อมต่อระยะสั้น : ระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันซึ่งไม่ต้องผ่านเกตหรือเซิร์ฟเวอร์กลาง และระหว่างอุปกรณ์กับสมาร์ทโฟน ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ เลย เช่น หูฟังบลูทูธ กล้องวงจรปิดในบ้าน ระบบจับคู่โทรศัพท์ NFC วายฟายปริ๊นเตอร์ Wi-Fi Direct File Sharing การแชร์ไฟล์ระหว่างสมาร์ทโฟนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. การเชื่อมต่อระยะกลาง : ในพื้นที่กว้างแบบโรงงานหรือพื้นที่เปิดขนาดกลาง เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวกับหลอดไฟอัจฉริยะ เซ็นเซอร์ควบคุมอุณหภูมิ การตรวจวัดระดับน้ำในแปลงเพาะปลูกกับความชื้นในดิน เป็นต้น
3. การเชื่อมต่อระยะไกล : ในพื้นที่เมืองหรือชนบทซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างมีโครงข่าย 4G/5G ของมือถือเข้ามาเชื่อมต่อด้วย เช่น ระบบติดตามรถยนต์ ระบบติดตามตำแหน่งสินค้า-ยานพาหนะในการขนส่ง ระบบ eSIM ในสมาร์ทวอช
4. การเชื่อมต่อแบบผสมผสาน : เป็นการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารในหลายรูปแบบร่วมกันในระบบ IoT เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น ระบบ SmartCity ที่ใช้การเชื่อมต่อระยะไกล และระยะสั้นร่วมกัน มีทั้งการเชื่อมต่อระยะสั้นจากเซ็นเซอร์กับอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและส่งไปยังพื้นที่ระยะไกล อุปกรณ์ติดตามวัตถุอย่าง AirTag ที่ใช้ Bluetooth ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ระยะใกล้ และส่งข้อมูลในระยะไกลได้ (Ultra Wide Brand) เพื่อช่วยให้ระบุตำแหน่งได้แม่นยำในพื้นที่จำกัด
หวังว่าการยกตัวอย่างอุปกรณ์แต่ละอย่างกับการเชื่อมต่อแต่ละลักษณะจะทำให้เราเข้าใจลักษณะของ IoT ได้ดีขึ้น
แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการทำงานขอไปยังต้นเรื่องของการเริ่มมีคำว่า IoT ขึ้นมาก่อน ไม่น่าเชื่อว่า ต้นเรื่องราวของการสร้างแนวคิดของ IoT ของเควิน แอชตัน จะเริ่มมาจาก..ลิปสติก ลิปสติก! ใช่ ๆ ลิปสติกที่เป็นเครื่องสำอางนี่แหละ ซึ่งได้เล่าไว้ในเว็บไซต์ Rickbouter ถึงชีวประวัติของเควินด้วยจากวิสัยทัศน์ที่เขาเปลี่ยนมุมมองในการผสมผสานโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุว่า เควินเคยเป็นผู้จัดการแบรนด์ Procter & Gamble (ทุกคนดูโลโก้ P&G น่าจะคุ้นตากัน) ขณะนั้นมีลิปสติกสีหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากและสีนี้ก็ขาดสต็อกอยู่เสมอ เมื่อเขาไปวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เลยไปพบช่องว่างของห่วงโซ่อุปทาน นั่นคือ การไม่รู้ข้อมูลความต้องการของตลาดที่สัมพันธ์กับสินค้าที่ผลิตออกมา กว่าจะรู้ว่าลูกค้าต้องการสินค้าเพิ่มขนาดไหนก็ผลิตไม่ทัน หรือหมดไปเสียก่อนแล้ว เขาจึงผลักดันการใช้ชิป RFID ขึ้นมาในการจัดการสินค้าคงคลัง เจ้าตัว RFID นี้จะสามารถอ่านค่าเพื่อติดตามข้อมูลสินค้าได้ว่าคืออะไร ผลิตอย่างไร วันไหน เมื่อไหร่ บอกตำแหน่งที่ตั้งเหล่านั้น เท่านี้เมื่อใช้การเชื่อมต่อข้อมูลเพิ่มก็สามารถบอกสถานะของสินค้าได้ว่า คงค้างในคลังเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ ซึ่งการผลักดันแนวคิดนี้ทำให้เค้าได้รับเชิญจาก MIT จัดตั้งกลุ่มวิจัย Auto-ID Center ขึ้น จึงบัญญัติคำว่า Internet of Things (IoT) ออกมานั่นเอง
หลักการทำงานของ IoT
การทำงานของ IoT โดยทั่วไปที่พบเห็นมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) อุปกรณ์อัจฉริยะ 2) แอปพลิเคชัน IoT และ 3) เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนทั้งการประมวลผลและการเชื่อมต่อรับ-ส่งข้อมูล ขยายความเข้าใจผ่านหนังสือ Internet of Things : Principles and Paradigms ปี 2016 ที่พูดถึงภาพรวมของ IoT ไว้ว่า แท้จริง IoT มีเพียงเสาหลัก 2 ประการที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ได้แก่ อินเทอร์เน็ต และ สรรพสิ่ง เพราะอาจจะเหมือนว่าวัตถุสิ่งของทุกชิ้นสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้แต่เราควรพิจารณาด้วยว่า สิ่งของใดที่จะเชื่อมต่อบ้าง เชื่อมต่ออย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือรับ-ส่งข้อมูลใด รวมถึงสิ่งของใดจะเป็นเซ็นเซอร์ สิ่งของใดต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ และส่งข้อมูลไปยังวัตถุอื่น ๆ ให้เข้าถึงได้อย่างไร เพราะอินเทอร์เน็ตควรเชื่อมต่อได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ การเชื่อมต่อที่เป็นสากลเป็นข้อกำหนดสำคัญของ IoT จึงต้องมีแอปพลิเคชันในการรองรับอุปกรณ์และโปรโตคอลการสื่อสารที่หลากหลาย ตั้งแต่เซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถตรวจวัด ตรวจจับ และรายงานข้อมูลที่ต้องการ ไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับข้อมูลจำนวนมากและประมวลผลสกัดข้อมูลได้ไว รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย
ตัวอย่างการใช้งาน
เพื่อให้เห็นหลักการทำงานได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายสามารถศึกษาเพิ่มเติมในเอกสารโปรเจค "การออกแบบระบบแสงอัจฉริยะของสวนมะเดื่อฝรั่งผ่านระบบ IoT" นักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้า ปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นโปรเจคที่ทำขึ้นเพื่อรักษาระดับค่าความหวานของผลมะเดื่อฝรั่งให้มีผลตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องการ แต่มีการใช้ IoT เข้ามาด้วย จากการศึกษาเอกสารพบว่า นักศึกษาตรวจดูข้อมูลจาก 3 ค่า ได้แก่ ค่า PPFD (Photosynthetically Photon Flux Density) เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นค่าเหมาะสมต่อการปลูก ส่วนต่อมาคือ ค่าอุณหภูมิของโรงเรือน และค่าความชื้น ดูผ่านทาง Node-RED Dashboard ที่เป็นเครื่องมือช่วยติดต่อกันระหว่าง Server และ Device อีกหลาย ๆ ตัวมาประมวลผลและเก็บค่ามาเปรียบเทียบผลการให้ความหวานต่อไป ซึ่งการทดลองกับระบบชดเชยแสงอัจฉริยะทำให้เห็นถึงค่าโคมไฟในลักษณะที่ 2 จาก 4 ลักษณะที่ให้ผลกับค่าความหวานได้ชัดเจน จะเห็นได้ว่า IoT เป็นเพียงตัวช่วยในการติดตามและประมวลผลแต่เมื่ออ่านเนื้อหาโปรเจคทั้งหมดจะเห็นว่า มีวัตถุที่ต้องทำงานเป็นเซนเซอร์ในการรับและส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์อื่น อุปกรณ์ที่ทำงานเป็นตัวเชื่อมต่อ โปรแกรมการทำงาน และแอปพลิเคชันในการรวม-รับส่งข้อมูลด้วย
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า ความท้าทายของ IoT นั้น คือ การเชื่อมต่อข้อมูลได้แบบรวดเร็วและเรียลไทม์ เพราะถ้าเทียบจากยุคแรก ๆ ที่ทำงานร่วมกับ RFID ต่อมาปัจจุบันขยายไปยังระบบ Cloud Computing, Fog Computing (เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลที่ขยายการทำงานของ Cloud Computing ไปยังขอบเครือข่าย) และ Mobile Computing รวมทั้งการสื่อสารร่วมกับ 5G ที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์หลากชนิดเข้าด้วยกัน (Massive Machine Type Communication : mMTC) ซึ่งติดตามต่อได้ในบทความจากภาควิศวกรรมไฟฟ้า มจธ. คลิก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ใน มจธ. ที่ใช้ IoT ช่วยจัดการและอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตรอบรั้วมหาวิทยาลัย มีอะไรบ้างแชร์มาบอกใน Comment บทความนี้ได้นะ
อ้างอิง
ANET. (2019). Internet of Things ทำงานอย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://www.anet.net.th/a/45726/Internet_of_Things_ทำงานอย่างไร_
Admin. (2020). ความเป็นมาของแนวคิดเทคโนโลยี IoT และตัวอย่างของการปรับใช้ในชีวิตประจำวัน. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://www.securitysystems.in.th/2020/11/begin-of-iot-technology-concept-and-daily-life-applying/.
Khodadadi, F., Dastjerdi, A. V., & Buyya, R. (2016). Chapter 1 - Internet of Things: an overview. In R. Buyya & A. Vahid Dastjerdi (Eds.), Internet of Things (pp. 3-27). Morgan Kaufmann. https://doi.org/https://doi.org/10.1016/B978-0-12-805395-9.00001-0
Pospak. (2562). มารู้จักกับ RFID (อาร์เอฟไอดี) เทคโนโลยีสารพัดประโยชน์. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://www.pospak.com/th/what-is-rfid-blog#:~:text=RFID%20ย่อมาจาก,ในการสื่อสารข้อมูล%20RFID.
0Rickbouter. (2014). Kevin Ashton, the man, the legend who brought us the Internet of Things. Retrieved at January 22, 2025. URL: https://rickbouter.com/2014/12/09/kevin-ashton-the-man-the-legend-who-brought-us-the-internet-of-things/.
SAS Insights. (2568). Internet of Things (IoT) นิยามและความสำคัญ. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://www.sas.com/th_th/insights/big-data/internet-of-things.html.
Thingsonnet. (2020). วิถีชีวิตแห่งอนาคต คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับ IoT (Internet of Things). สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. https://thingsonnet.net/en/articles/internet-of-things
จักรกฤช กันทอง. (2568). เทคโนโลยีสื่อสาร 5G+AIoT กับประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://eemag2025.web.app/#p=49.
ธนากร ศรีบัวลา. (2562). การผลิตไฟฟ้าจากหม้อไอ้น้ำขนาดเล็กที่ใช้ Internet of Things ในการวิเคราะห์สมรรถนะ. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, หน้า 54.
ภูวิศ โพธิ์ใหญ่. (2568). ภาวะเชื่อมต่อ Connectivity. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. URL: https://eemag2025.web.app/#p=55.
อัญชลี ปริยเมธางกูร, ธัญจิรา เนติประวัติ และวิชญาณี ถิละวัฒน์. (2562). การออกแบบระบบแสงสว่างอัจฉริยะของสวนมะเดื่อฝรั่งผ่านระบบ IoT. ปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
Categories
Hashtags