เมื่อข้อมูลเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบดิจิทัล การบริหารจัดการสารสนเทศจึงต้องอาศัยเครื่องมือและแนวคิดในการรักษาและเพิ่มคุณค่าของเนื้อหาให้สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งของการบ่งชี้ถึงวัตถุดิจิทัลเหล่านั้น คือ DOI (Digital Object Identifier) เพื่อความเข้าใจโดยง่าย จึงใช้การเปรียบเปรยได้ว่า วัตถุดิจิทัลแต่ละรายการก็เป็นเสมือน "พลเมือง" คนหนึ่งของรัฐที่มี เลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้ระบุตัวตนได้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่นเดียวกับ DOI ก็คือเลขรหัสประจำตัวประชาชนของวัตถุดิจิทัลชิ้นนั้น ๆ เลข DOI ทำหน้าที่คล้ายกับ URL แบบถาวรที่เข้าถึงวัตถุดิจิทัลชิ้นนั้นได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นบทความ งานวิจัย เอกสาร source code เช่นเดียวกับหนังสือที่มี ISBN และวารสารก็มี ISSN เพื่อแสดงตัวตนอย่างเป็นทางการ วัตถุดิจิทัลก็มี DOI
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ลงทะเบียนและจัดการเลข เรียกว่า Registration Agency (RA) เช่น Crossref, DataCite, Japan Link Center, Publications Office of the European Union เป็นต้น ซึ่ง RA จะดูแลวัตถุดิจิทัลตามลักษณะเนื้อหาและวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ๆ สำหรับในประเทศไทยหน่วยงานที่สนับสนุนการให้บริการรหัส DOI ของผลงานวิจัยไทย คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่งในการเป็นตัวแทนลงทะเบียนและจัดการเลข DOI ของงานวิจัยไทยผ่าน DataCite โครงสร้างรหัสเลข DOI จากวช. ปัจจุบันมี Prefix ตั้งแต่ 10.12755-10.12756 และ 10.14456-10.14458 โดยแบ่งการแบ่ง Prefix ตามลักษณะผู้รับบริการดังนี้
ภาพจากสไลด์การบรรยายเรื่อง ระบบการให้บริการรหัส DOI 2024
ของคุณรุ่งเรือง มากสกุล
ดังนั้น บทความวิจัย มจธ. จึงสังเกตได้ว่ามีเลข Prefix เริ่มต้นด้วย 10.14457 แล้ว Suffix ตามหลังเป็นชื่อย่อหน่วยงาน ประเภทวัตถุดิจิทัล ปีที่เผยแพร่ เลขลำดับ ดังภาพตัวอย่าง
ภาพตัวอย่างแสดงผลการค้นหาเลข DOI
จากฐานข้อมูลระบบบริการ DOI สำนักงานวิจัยแห่งชาติ
ขั้นตอนในการให้บริการจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะมีหน่วยงานในเครือข่ายเป็นผู้รวบรวมวัตถุดิจิทัลและกำหนด Metadata ข้อมูลดิจิทัลประกอบวัตถุเหล่านั้นส่งให้ วช. มาดำเนินการใน 4 Modules คือ Collect, Validate เช็คซ้ำ เช็คความถูกต้อง Generate และ Publish ซึ่งปัจจุบันมี API เชื่อมต่อกับหน่วยงานในเครือข่าย ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้และออกเลข DOI ให้บริการได้เร็วขึ้น ตั้งแต่ Module Generate เพื่อส่งไปยัง DataCite กำหนดเลข DOI และเผยแพร่ออกมาให้บริการ (ข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงาน ณ 6 สิงหาคม 2567)
หน้าที่ของบรรณารักษ์ในหน่วยงานเครือข่ายอย่างสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้รวบรวมวัตถุดิจิทัลแต่ละรายการ เช่น วัตถุดิจิทัลประเภทวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี Metadata หรือรายละเอียดทางบรรณานุกรมอย่างชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ชื่อสาขาวิชา คณะ ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา บทคัดย่อ คำสำคัญ เป็นต้น บรรณารักษ์ต้องกรอกขอบเขตข้อมูลเหล่านี้ให้ครบ แล้วส่งขึ้นระบบเชื่อมต่อไปยัง DataCite เพื่อออกเลข DOI
นอกจากหน่วยงานรับจดทะเบียน DOI อย่าง DataCite แล้ว ในประเทศไทยยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือ Crossref ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีบอกรับเป็นสมาชิกด้วย
ตัวอย่างหน้าจาการค้นหาวัตถุดิจิทัลใน Crossref
สำหรับหน้าที่ของบรรณารักษ์หรือผู้เผยแพร่วัตถุดิจิทัลนั้น คือ การส่งข้อมูล Metadata ของวัตถุดิจิทัลเหล่านั้นขึ้นไปยัง Crossref เพื่อกำหนด DOI ให้กับเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงต้องประสานงานกับ Editor อย่างวารสาร หรือแหล่งรวบรวมวิทยานิพนธ์เพื่อรวม linkDOI ลงในวัตถุดิจิทัลเหล่านั้น หรือประสานงานกับผู้แต่งในเรื่อง ORCID เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้แต่งกับรหัส ORCID รหัสประจำตัวนักวิจัยด้วย
ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การยืนยันตัวตนของวัตถุดิจิทัลแต่ละรายการมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกตั้งแต่การให้ข้อมูล คำอธิบาย ไปจนถึงการระบุที่มาของวัตถุดิจิทัลให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานรู้สึกยุ่งยาก จึงมีหน่วยงานที่คอยดูแล เช่น หอสมุด และบรรณารักษ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศคอยช่วยจัดการและดูแลให้วัตถุดิจิทัลเหล่นั้นมีตัวตนที่ชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ระบบที่ใช้รองรับให้เป็นมาตรฐานสากล เช่น OpenURL ที่ช่วยให้วัตถุดิจิทัลมีโอกาสถูกอ้างอิงได้มากขึ้น แม้มีการย้ายลิงก์หรือเปลี่ยนโฮสในอนาคตก็ยังสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้เหมือนเดิม
สอบถามการบริการกำหนดให้เลข DOI ของ มจธ. ได้ที่งานทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ สำนักหอสมุด มจธ. 024708222
ข้อมูลอ้างอิง
ชาตรี วงษ์แก้ว. (2567). แนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ DOI กับบทความวารสารและงานวิจัย [เอกสารไม่ตีพิมพ์]. กิจกรรม การยกระดับการบริการรหัส DOI ของผลงานวิจัยไทย: วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ณ ห้องโถง ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการวิจัยกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ
รุ่งเรือง มากสกุล. (2567). ระบบการบริการรหัส DOI 2024 [เอกสารไม่ตีพิมพ์]. กิจกรรม การยกระดับการบริการรหัส DOI ของผลงานวิจัยไทย: วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ณ ห้องโถง ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการวิจัยกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ
Categories
Hashtags