ASF KMUTT Day มีดีอย่างไรใน Day 1
Published: 4 July 2024
15 views

Academic Support Fair 2024

สานพลังการเรียนรู้ ขับเคลื่อน มจธ. สู่อนาคต

กล่าวเปิดงานท่านแรกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สยาม เจริญเสียง อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของงานโดยง่ายว่า เป็นงานที่จัดขึ้นมาเพื่อสานพลังในหน่วยงานสนับสนุนการเรียนรู้ของ มจธ. ที่ต้องการขับเคลื่อนงานให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยโดยดำเนินไปอย่างราบรื่น ต่อมาด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เตีย ที่กล่าวโดยสรุปว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับบุคลากรทางสายวิชาการให้เห็นถึงการปรับกระบวนทัศน์ในด้านการเรียนการสอนทั้งในระดับ Degree และ Non-Degree ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีความพร้อมต่อการขับเคลื่อนดังกล่าว

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษ เรื่อง สานพลังการเรียนรู้ ขับเคลื่อน มจธ. สู่อนาคต Empowering KMUTT for Brighter future with sharing, learning and Digital Innovation

ภาพรวมของการบรรยายนั้นใช้แนวคิดที่ "มองไปข้างหน้าโดยรู้รากเหง้าจากในอดีต เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และเกิดขึ้นมาแล้ว" เราเรียนรู้แล้วเพื่อไปวางแผนอนาคตได้ ดังนั้น เนื้อหาการบรรยายจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มรดกจากอดีต และการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

จากอนาคต สู่ปัจจุบัน หันมองราก แลหน้า เหลียวหลัง

มรดกจากอดีต

การเปลี่ยนแปลงของ มจธ. หากแบ่งตามสถานะของมหาวิทยาลัยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี (วธ.) พ.ศ. 2503-2514 ช่วงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี (สจ.ธ.) พ.ศ. 2514-2529 ช่วงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สจธ.) พ.ศ. 2529-2540 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พ.ศ. 2541-2567 จากการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา มจธ. ขยายพื้นที่การศึกษาออกไปทั้งที่บางมด บางขุนเทียน ราชบุรี ตลอดจนการมีศูนย์การศึกษาในเมือง (Bangkok Code) KX ด้วย โดยมีความหลากหลายทางวิชาการและกิจกรรมเกิดขึ้น

รัฐบาลไทยในช่วง 2510 ให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นเป็นสถาบันพระจอมเกล้า ที่มีทั้งวิทยาเขตพระนครเหนือ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ : มจพ. ปัจจุบัน) รวมถึงวิทยาเขตโทรคมนาคม (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง : สจล.ปัจจุบัน) ความแตกต่างระหว่างสามแห่ง คือ มจธ.จะเป็นฐานวิทยาศาสตร์เติมความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ผ่านกระบวนการเรียนรู้และปฏบัติลงมือทำ (Hands-On) จึงเรียกได้เป็น "ฐานกว้าง" ในขณะที่ มจพ. เน้นเสริมทักษะของผู้เรียน และสจล. เน้นทักษะเฉพาะทางในขณะนั้นเฉพาะทางด้านโทรคมนาคม

ในช่วงวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี โครงสร้างขององค์กรยังไม่มีการแบ่งสายสนับสนุน สายวิชาการอย่างปัจจุบัน จึงทำให้บุคลากรที่มีน้อยมาก เพียง 50 คน ต้องดำเนินการทุกอย่าง ทั้งสอนและจัดการสอน

ต่อมาในช่วงวิทยาเขต (สจ.ธ) ด้านการเรียนการสอนของพวกเราเน้นการให้ดีกรีปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 5 ปี โดยมีวิชาเอกวิทยาศาสตร์ และวิชารองวิศวกรรมศาสตร์ จึงทำให้เกิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ได้โดยง่าย เกิดวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาอื่น ๆ รวมไปถึงการรวมกันระหว่างวิทย์กับวิศวฯ เป็นปริญญาโทที่ต่างจากที่อื่น ๆ เป็นสหวิทยาการ ทั้งพลังงานวัสดุ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ฐานรากของวิศวกรรมชีวเคมี รวมถึงการเกิดขึ้นของสวนอุตสาหกรรมที่ มจธ. บางขุนเทียน

ยุคสาม สจธ. หลักสูตรบัณฑิตศึกษามีมากกว่าปริญญาตรี เริ่มมีรายได้จากงานวิจัยในสัดส่วนสูงที่สุดในไทยขณะนั้น ทำงานวิจัยเข้มข้นกับกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย ประชาคมยุโรป อเมริกา นิวซีแลนด์ อัตราการตีพิมพ์ต่อคนสูงในอันดับสองของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย รวมถึงการตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ มจธ.ได้เข้าไปร่วมเพื่อเป็นผู้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชนบท รวมถึงการประยุกต์ในระบบเกษตร (พื้นฐานในการเป็น Social Lab ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังขยายโปรแกรมการศึกษาสู่ภาษาอังกฤษเทคนิค เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงาน สายสนับสนุนทำงานอุทิศตัวมากทีเดียว เพราะมีงานเกิดขึ้นเยอะมาก

ยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา มจธ. เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่อตอบภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ตอบภาคการเกษตรด้วย (บางมด เน้นศูนย์สอน มจธ. เน้นวิจัย ราชบุรี Liberal Arts การศึกษาระบบศิลปวิทยาศาสตร์ KX เน้นสตาร์ทอัพเขตธุรกิจ)

ผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่ลดต่ำลงและอายุน้อยลงเรื่อย ๆ (เกิดสังคมการเรียนสลับกัน วัยทำงานไปเรียน วัยเรียนมาทำงาน) เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานแบบครั้งคราว การจ้างงานที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป (gig economy) ทำให้มหาวิทยาลัยมีผู้เรียนรู้หลายระดับ (Multi Generation University) การเรียนการสอนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิมกลายเป็นห้องเรียนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนเชิงรุก รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ขึ้นอยู่กับผู้เรียนว่าต้องการผลสัมฤทธิ์ในระดับไหน ทำให้บทบาทของครูเปลี่ยนไปเป็น Mentor เป็น Coach อีกทั้งเทคโนโลยีทำให้คนเรียนหนังสือได้ด้วยราคาไม่แพง ผู้สอนต้องเข้าใจในพฤติกรรมเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย รวมไปถึงผลกระทบสำคัญอย่าง AI นิยมใช้ Generative AI ทั้งการตรวจรายงาน ออกแบบหลักสูตร ออกแบบทัศนศึกษา หรือผลกระทบภายนอกอย่างสภาพการเปลี่ยนแปลงทางอากาศของโลก (Climate Change) เป็นสิ่งที่กระทบต่อการแสวงหาความรู้และการศึกษาทั้งสิ้น

ดังนั้น บุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับงานหนัก ซึ่งการทำงานเป็นทีมจะเป็นการขับเคลื่อนที่ง่ายกว่า นอกจากทำงานหนัก อุทิศตนแล้ว น้ำหนึ่งใจเดียวกัน และหมั่นศึกษาหาความรู้ จะทำให้ตามทันกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ขึ้นมากล่าวเพิ่มเติมถึงความเป็นอุดมศึกษา โดยอาจารย์ให้ข้อคิดไว้สั้น ๆ ว่า ความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยที่มีตัวเราทำงานอยู่นั้นเราสามารถทำอะไรก็ได้อย่างเป็นอิสระเพื่อประเทศชาติและสังคมที่ดีขึ้น เราต้องสร้างสังคมที่ดีดีจากความเป็นเลิศที่ตนเองมีโดยใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Strategic Agile Team

โดยอาจารย์สยามกล่าวถึง Strategic Agile Team สรุปได้ว่า การทำงานแบบ Agile เป็นกระบวนการทำงานรูปแบบหนึ่งเพื่อให้งานเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยอาจารย์เห็นความสำคัญของการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ มจธ. ฉบับที่ 13 ว่าต้องมีการสร้างระบบงานและการบริหารจัดการองค์กรที่ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงเห็นว่าควรมี agile team ขึ้นมารองรับ มีประมาณ 6 ทีม ได้แก่ ทีม Ai&Data ทีม Robotics ทีม Creative Media (นำ Physical + Virtual เป็น Cyber-Physical ทีม Sustainability ทีม Inclusive Education ทีม Simulate Education

Excellent Utility Management Team : Key to Real Estate Success ทีมวิศวกรประกอบอาคารที่เยี่ยมยอด กุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจอสังหา

โดยรวมเป็นการเปิดตัวหลักสูตรพื้นฐานการจัดการระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร (Basic Utility Management) หลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ Non Degree

จากประสบการณ์ยาวนานกว่า 65 ปี ของ บริษัทสยามพิวรรธน์ ที่ได้ผ่านการบริหารโครงการสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี ไอคอนสยาม จึงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการระบบภายในอาคาร รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีประสบการณ์ที่เข้มแข็ง มีพลังความรู้ ด้วยการเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงร่วมมือกับ มจธ. เพื่อเสริมความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน การดูแลอาคารนอกจากความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ความสะดวกสบาย ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้อาคารสมาร์ท โดยร่วมทำ MOU กับทาง มจธ. ตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2567 จากการเล็งเห็นถึงนความโดดเด่นทางวิชาการของ มจธ. ผู้เรียนมีสมรรถนะสูง มีทัศนคติที่ดีเลิศต่อการปฏิบัติงาน ต้องการผลิตบุคลากรที่ทำงานด้านนี้เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป

สยามพิวรรธน์อคาเดมี หน่วยงานย่อยที่ร่วมมือกับ มจธ. เป็นสถาบันหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในบริษัทสยามพิวรรธน์ โดยเสมือนว่าเป็นโรงเรียนเสริมการเรียนรู้แยกออกมาให้ชัดเจนเพื่อความคล่องตัว

โดยอาจารย์สุวิทย์กล่าวถึงว่า การที่รัฐบาลจะกำลังแก้กฎหมายในการเช่าที่ดินโดยปรับเปลี่ยนสัดส่วนให้ต่างชาติขยายการลงทุนได้มากขึ้นอาจเป็นโอกาสในอนาคตที่จะมีความต้องการกำลังคนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

หลักสูตรที่ร่วมกับ มจธ. เป็นหลักสูตรการเรียนระยะสั้น - ในระดับพื้นฐาน (Basic) เป็นระยะแรกที่เปิด 28 ชั่วโมง ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเน้นการศึกษาจากสถานที่จริงและวัดความรู้และทดสอบว่าทำได้ ทำเป็นอย่างไร เป็นการ Upskill คนทำงานในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงหลักสูตรให้รองรับต่อความต้องการในระดับปริญญาตรีให้ทัน โดยรุ่นแรกเปิดในเดือน ก.ค. รับ 30 ผู้เรียนต่อรอบ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเริ่มรับจากบุคลากรในบริษัทสยามพิวรรธน์ก่อนกระจายที่กลุ่มนักศึกษาและบุคลากรจากแหล่งอื่น ๆ

จากการบรรยายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุทัต บุญประมุข รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ดร.เชิดชัย ประภานวรัตน์ คุณจารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล ดำเนินรายการโดย ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสระ ทำให้เรารับรู้ถึงกระแสของอาคารสมัยใหม่ ที่มีหลายมาตรฐานอาคารรองรับ เช่น มาตรฐาน LEED โดยเห็นถึงความสำคัญของเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานด้วย โดยมีความคาดหวังในการยกระดับกำลังคน ให้มีแนวคิดถึงการบริหารจัดการอาคารให้เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไร้กังวล มีประสบการณ์การอยู่อาคารที่ดี รวมถึงการ Go Green รักษ์โลก Waste to Wealth

คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานที่ถูกใจผู้ประกอบการ

  1. มีความรู้ความเข้าใจในระบบของอาคาร ระบบมาตรฐาน การจัดการพลังงาน วัสดุที่ควรใช้
  2. รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็น LifeLong Learner คอยอัพเดทนำวิทยาการความรู้มาปรับใช้
  3. มีความสามารถในการสื่อสารประสานงาน ใช้ภาษาคนร่วมกับภาษาใจ



Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...