จากรากฐานสู่อนาคต :
65 ปี ภูมิปัญญาและความก้าวหน้าของ มจธ.
ผ่านมาแล้วเกือบ 65 ปี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้เติบโตและก้าวข้ามความท้าทาย จนกลายเป็น มจธ. ทุกวันนี้ โดยผ่านการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 4 ช่วงเวลาสู่ความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของมหาวิทยาลัยและบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย
“พลังแห่งการเสียสละ ช่วงที่ 1 :” วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี (พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2513)
เติบโตด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์เพื่อพัฒนาของเหล่าคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา รับผู้จบเตรียมอุดมศึกษา (=ม.6 ปัจจุบัน) เฉพาะสายวิทยาศาสตร์
30 พฤษภาคม 2503
“นักศึกษาปีแรกต้องช่วงแรงทำถนนเข้าวิทยาลัย ทางอำเภอหาเครื่องมือ จอบ เสียม บุ้งกี๋ มากองไว้มากมาย มีชาวบ้านแถวนั้นออกแรงช่วยด้วย....” ศรีสวัสดิ์ มีนะวณิช 30 ปี สถาบันฯ
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ การฝึกฝนตนเองให้ผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมปฏิบัติงานและอยู่เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า ทนโต เสฏโฐ มนุสเสสุ หรือ The Trained Man Wins (ในหมู่มนุษย์ บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด)
----------------------------------------------------------------------------------------
“ก้าวแห่งคุณค่า” ช่วงที่ 2 : “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี (พ.ศ. 2514-2528)
ยกระดับสู่สถาบันเทคโนโลยี คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ด้านความเข้มข้นในงานปฏิบัติ สู่บทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์งานวิจัย
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณใช้พระนาม “พระจอมเกล้า” เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตรา “พระมหามงกุฎ” ตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นตราสัญลักษณ์ของสถาบัน
ช่วงเวลานั้น..สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงและตึงเครียดอย่างมากด้วยการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้มีนักศึกษาและประชาชนประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิไตยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ในวันที่14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรีไปร่วมประท้วงด้วย เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียนักศึกษาไป 1 คน คือ นายสมพงษ์ พลอยเรืองรัศมี นักสึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ถูกยิงด้วยกระสุน M16 จากหน้าอกทะลุออกข้างหลัง สถาบันจึงรวบรวมเงินสร้งศาลาอนุสรณ์เรียกว่า “ศาลาวีรชน” สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของบทบาทนักศึกษา
แต่จากเหตุการณ์ทำให้ถึงบทบาทที่เข้มแข็งของนักศึกษา ทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัย ดังเช่นการจัดงานนิทรรศการเทคโนโลยีครั้งแรกของบางมด ครั้งที่ 1 (29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515) โดยมีนายเกษม โสตถิวัฒน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยากในช่วงเวลานั้น แต่กลับได้รับความสนใจจากนักเรียนและประชาชนที่เดินทางมาชมสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และผลงานของนักศึกษาอย่างล้นหลามกว่า 15,000 คน ทำให้บางมดเป็นที่รู้จักและกลายเป็นรากฐานของการแสดงผลงานนักศึกษาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารการขออนุญาตประชาสัมพันธ์นิทรรศการเทคโนโลยีครั้งที่ 1 เป็นหลักฐานว่ามีการจัดเกิดขึ้นในวันเวลาใด และผู้ที่มาเยี่ยมชมเป็นสถาบันใดบ้าง
นิทรรศการเทคโนโลยีครั้งที่ 1 (29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515)
นิทรรศการและเทคโนโลยียังคงจัดต่อเนื่องไปจนถึงครั้งที่ 6 และเปลี่ยนแปลงเป็นการนำเสนอโปรเจคตามภาควิชา/คณะต่าง ๆ มักเรียกว่า Project's Day
ต่อมาโลกพบวิกฤติการณ์น้ำมันตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ประเทศสมาชิกโอเปกได้ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลทำให้เกิดการใช้น้ำมันเป็ฯเครื่องมือทางการเมือง จึงมีความตระหนักถึงเทคโนโลยีพลังงานในประเทศไทย พลังงาน วัสดุ สิ่งแวดล้อม ในขณะนั้นอาจารย์ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ มีวิสัยทัศน์ว่า จำเป็นต้องสร้างคนและความรู้ไว้เพราะจะเป็นเรื่องสำคัญของโลกและประเทศไทย โดยสาขาด้านพลังงานนี้ถือเป็นสหวิทยาการที่ต้องอาศัยศาสตร์ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดคณะพลังงานและวัสดุ ซึ่งเป็นสหวิทยาการ ทั้งทางด้านพลังงาน เทคโนโลยีวัสดุ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อวิจัยให้สามารถนำมาประยุกต์กับความต้องการของประเทศได้ โดยเริ่มหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีพลังงาน ปีการศึกษา 2520
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ (ตำแหน่งปัจจุบัน) บุคคลผู้ริเริ่มผลักดันคณะพลังงานและวัสดุใน มจธ. (ภาพถ่ายปี 2518 จากการศึกษาดูงานโครงการ UNDP ในยุโรป)
ภาพการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีที่นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น หม้อหุงข้าวจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญด้านพลังงานในช่วงเวลานั้น
ความโดดเด่นทางงานวิจัยด้านพลังงานผ่านโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน โดยมีอาจารย์หลายท่านที่ได้เป็นประธานคณะอนุกรรมการอาเซียนระดับประเทศไทย หรือเป็นประธานคณะอนุกรรมการอาเซียนระดับประชาคม มีทั้งด้านพลังงาน ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และไอที เช่น ด้านพลังงาน - อาจารย์ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ อาจารย์จุลละพงษ์ จุลละโพธิ์ อ.กฤษณพงศ์ กีรตกิกร | ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อาจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน อาจารย์มรกต ตันติเจริญ | ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร อาจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน
สจ.ธ. ขยายภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ยกระดับภาควิชาภาษาและสังคม และมีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการเป็นครั้งแรกเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงาน
หลังจากเกิดกลุ่มวิจัยวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมกับระบบเกษตรกรรมจึงนำไปสู่การช่วยเหลือ โดยมีส่วนร่วมในโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปภายใต้โครงการหลวงและโครงการพัฒนาตามพระราชดำริรากฐานของโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชนสู่เกิดห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Labs)
----------------------------------------------------------------------------------------
“ขับเคลื่อนด้วยความรู้และความร่วมมือ” ช่วงที่ 3 : “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (พ.ศ. 2529-2540)
บ่มเพาะความรู้และความร่วมมือของสายสนับสนุน วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี เกิดรากฐานปัญญา สู่ความก้าวหน้าด้วยงานวิจัย
เป็นช่วงที่ขยายด้านวิชาการโดยการจัดตั้งคณะ หน่วยงานวิชาการ เปิดหลักสูตรใหม่ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน
แผนผังพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียนในปัจจุบัน
สจธ. เริ่มจัดการเรียนการสอนแบบ Practice School ที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากภาคอุตสาหกรรมเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมามีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกับการทำงานจริง (Work-integrated Learning: WiL) และต่อมาจัดตั้งโครงการทักษะวิศวกรรมเคมี (ChEPS : Chemical Engineering Practice School) ร่วมกับความร่วมมือกับภาคเอกชน
พ.ศ. 2531 จัดตั้งสำนักห้องสมุดและบรรณสารสนเทศ ห้องสมุดมีก่อนเดิมอยู่แล้วซึ่งรวบรวมคลังหนังสือด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และได้จัดทำระบบฐานข้อมูลของโครงการอาเซียนมาให้นักศึกษาใช้เป็นฐานข้อมูลในการค้นคว้าเพื่อทำวิทยานิพนธ์ในขณะนั้นที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย
พ.ศ. 2532 สำนักคอมพิวเตอร์จัดตั้งขึ้น ด้วยรากของการพัฒนาจากหน่วยบริการคอมพิวเตอร์กลางของ CORD ในเบื้องต้นมีระบบจาก Silicon Graphics เพื่อทำ engineering workstation มจธ.เป็นชั้นนำด้านเทคโนโลยีในขณะนั้นแม้แต่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ยังมาทำข่าวเรื่องคอมพิวเตอร์ระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ศ.ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล (ตำแหน่งปัจจุบัน) ได้ร่วมให้สัมภาษณ์ รวมถึงคณะเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่งจัดตั้งในช่วงเวลานี้ด้วย
สำหรับโครงการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร พัฒนาเป็นสถาบันวิจัยและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) เพื่อสร้างอุปกรณ์และศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยทำงานร่วมกับ BIOTEC และตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาโรงงานต้นแบบและวิศวกรรมชีวเคมี (BEC) มจธ.บางขุนเทียนพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสวนการศึกษาและสวนอุตสาหกรรมเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาให้เป็นเลิศ ด้านอาหารและอาหารเสริมสุขภาพ ด้านอาหารสัตว์และอาหารเสริมสุขภาพสัตว์ ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน และด้านยาชีววัตถุ สารออกฤทธิ์ในทางการแพทย์ เน้นการวิจัยพัฒนาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และผลิตใช้ได้จริง สนับสนุนความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมของประเทศ และถือเป็นสวนการศึกษาและสวนอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย
บางขุนเทียนเป็นพื้นที่ส่วนขยายงานจากบางมด เป็นพื้นที่ต้นแบบของการเชื่อมต่อระหว่างงานวิจัยกับอุตสาหกรรม เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับนักวิจัยมีอาคารรองรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคณะที่เกิดใหม่ในช่วงเวลานั้น
ภาพร่างบางขุนเทียนจากอัลบั้มภาพในอดีตปี 2536
ภาพที่ดินใหม่บางขุนเทียนถ่ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2537
นอกจากนี้ สจธ. เห็นความสำคัญของงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาในสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.)
ประเทศไทยมีความต้องการผู้จบระดับอุดมศึกษามากขึ้น อุตสาหกรรมและการบริการขยายตัวเร็ว จึงมีหลายกลไกของการขยายอุดมศึกษาทั้งแบบจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในต่างจังหวัด และการขยายวิทยาเขต
มจธ.จึงขยายพื้นที่การศึกษาที่จังหวัดราชบุรี โดยมุ่งหวังในการขัดเกลานักศึกษาให้มีความพร้อมในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เป็นพลเมืองที่ดีทางสังคม เป็นฐานวิชาการ สามารถเริ่มงานบัณฑิตศึกษาและวิจัยตั้งแต่ต้น ไปจนถึงสร้างนักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและคณิตศาสตร์
---------------------------------------------------------------------------------------
“วิธีคิด-เปลี่ยนวิธีทำ: วิถีมหาวิทยาลัยในกำกับ” ช่วงที่ 4 : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน)
การเปลี่ยนผ่านสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ สร้างสรรค์วิถีใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการทำงาน เดินหน้าสู่ระบบที่ต้องคิดเอง ทำเอง และขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือ เพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน
เกิดภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำอย่างรุนแรง จึงเกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลต่อการปฏิรูประบบบริหารงานที่กระทบต่อระบบการศึกษา โดย มจธ. ปรับระบบบริหารภายในเริ่มใช้การบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) ใน พ.ศ. 2542 การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และมีการจัดตั้งโรงเรียนดรุณสิกขาลัย (พิธีเปิดใน พ.ศ. 2544) สร้างทักษะการเรียนรู้สร้างสรรค์แห่งปัญญา Constructionism รวมถึงการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544
กำหนดวิสัยทัศน์และถอดเป็นแผนพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุผลจึงเกิดกลยุทธ์ 6 Flagships ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยเสมือน การสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ การสร้างความเข้มแข็งวทางด้านบริหารจัดการ องค์กรแห่งการเรียนรู้ และการบริหารรายได้และต้นทุนขยาย City Campus เพิ่มพื้นที่การให้บริการในชุมชนเมือง (Bangkok Code)
เริ่มต้นโครงการ 6+1 Flagships track 1 ในปี 2546 ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ 5 มุ่ง ภายหลังการเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ใน พ.ศ. 2542-2543 เป็นครั้งแรกที่ทำแผนฉบับใหม่ วางรากฐาน 7 แนวทางยุทธศาสตร์การวิจัย สร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 7 Strategic Theme Research มีโครงการที่ต้องการพัฒนางานวิจัยในมหาวิทยาลัยให้มีความหลากหลายและมีความเป็นสากลมากขึ้น พ.ศ. 2550 จึงมีโครงการทุนอาจารย์พิเศษชาวต่างประเทศ และโครงการทุนอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษชาวต่างประเทศ และโครงการทุนวิจัยหลังปริญญาเอก และได้จัดตั้ง R&D Cluster เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันในคลัสเตอร์วิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศ
ปรับปรุงระบบการรับนักเรียนเริ่มโครงการ 2B-KMUTT มาจาก B The Best และ The Brightest ปลูกฝังและส่งเสริมเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้มีความสามารถในการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านการวิจัย การออกแบบ การทดลอง การประดิษฐ์ และการสร้างสุนทรียะ ในช่วง พ.ศ. 2547 เป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะจากการระดมสมองเมื่อครั้งที่ 6 โครงการ 6+1 Flagships track 1
มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย โดยก่อตั้งโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกของไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้จัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ “ห้องเรียนวิศว์-วิทย์” ที่ มจธ. บางขุนเทียน ในปี 2551
เริ่มดำเนินการสรรหานักศึกษาเชิงรุก ปรับปรุงระบบการรับนักเรียนโครงการ 2B-KMUTT ขยายไปในระดับภูมิภาคและเจาะลึกกลุ่มเป้าหมายไปยัง Gifted & Science School, Honor Program โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนรวมทั้งนักศึกษาต่างชาติ
พ.ศ. 2553 ใช้ Outcome Based Education (OBE) เพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย มจธ. มีระบบเชื่อมเครือข่ายข้อมูบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนปัจจุบันเรียกเป็น LEB2 และเพิ่มหลักสูตรสำหรับบุคลทุกช่วงวัย
อาคารวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการชีวภาพ (Bioprocess Research and Innovation Building : BRI) เป็นศูนย์การให้บริการอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม ส่งเสริม Start Up และผู้ประกอบการใหม่ในด้าน Bioeconomy
มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของโลก 5 ปีซ้อน
เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบโคเซน (KOSEN KMUTT) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2563
ส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจของนักศึกษา (Student Entrepreneurship Program) เริ่มโครงการ KMUTT Student Entrepreneurship (HATCH)
เริ่มใช้ระบบบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม (KIRIM) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลผลงานวิจัยงานบริการวิชาการและทรัพย์สินทางปัญญาไปขยายผลต่อเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคม
การค้นหาความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำถ่ายทอดกลับลงมา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ใช้มหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ LX (The Multidisciplinary Learning Exchange)
----------------------------------------------------------------------------------------
ก้าวสู่อนาคตเพื่อความยั่งยืน ช่วงที่ 5 อนาคต มจธ.
แผนกลยุทธ์ 13 ปรับตัว พัฒนา และเชื่อมโยง สู่ความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน
· ยกระดับสู่การเป็น Sustainable Entrepreneurial University จะเป็น The Sustainable Entrepreneurial Science, Technology and Innovation (STI) University ชั้นนำสามอันดับแรกในอาเซียนภายในปี 2569
· มุ่งผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีคุณภาพสูงพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
· พัฒนาความเป็นเลิศด้านการวิจัยที่มีผลกระทบสูงในระดับนานาชาติ ความสามารถในการสร้างงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีคุณค่า
· พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ทั้งระดับ Degree และ Non degree รองรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปวัยทำงาน พัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานโลก เน้นการบูรณาการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล เช่น ABET, AUN-QA, AACSB
· พัฒนาให้มีความเป็น SMART University คล่องตัว ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลที่ดี ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล
ขอบคุณข้อมูล
คณะผู้ประชุมเรื่องเล่าจากภาพ ได้แก่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร, อาจารย์สุชาติ เพริศพริ้ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สนั่น สระแก้ว, คุณสุพจน์ มีชาติ, คุณสุนิตย์ เทพไพฑูรย์, คุณอัจฉรา จันทร์เจริญ, อาจารย์รัศมี ชุติมา, คุณจักษ์พัฒนา อภัยจิตร์, คุณพัชริน จวนวรชัย, คุณสุเมธ ท่านเจริญ, คุณพจน์เมธี โคตรสุโพธิ์
ข้อมูลอ้างอิง
กฤษณพงศ์ กีรติกร. (2553). Special Issue : มจธ. กับความเป็นมา 2503-2553 บางมดมาได้ด้วยคนดีและคนเก่ง พระจอมเกล้าธนบุรีไปข้างหน้าได้ด้วยคนดีและคนเก่ง. มปพ.
คณะทำงานหนังสือที่ระลึกครบรอบ 10 ปี โครงการ 6+1 Flagships. (2556). 10 Year Flagships บนเส้นทางการพัฒนา มจธ. มปพ.
ธนิตสรณ์ จิระพรชัย, และคนอื่น. ๆ. (2553). มจธ. กับการขับเคลื่อนองค์กร. มปพ.
ธีราพร ชัยอรุณดีกุล, และคนอื่น. ๆ. (2563). 6 ทศวรรษวิวัฒนาการวิจัยนวัตกรรมและการบริการวิชาการแห่ง มจธ. มปพ.
ธีราพร ชัยอรุณดีกุล, และคนอื่นๆ. (2563). 6 ทศวรรษแห่งการสอนสู่นวัตกรรมการเรียนรู้ มจธ. มปพ.
ธีราพร ชัยอรุณดีกุล, และคนอื่นๆ. (2563). สังคมปริวรรตพิพฒน์อนาต 60 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6 ทศวรรษบนเส้นทางแห่งวิวัฒนาการความเป็น มจธ. มปพ.
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (2533). 30 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2503-2533). กรุงเทพฯ: สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
สุวิทย์ เตีย, และคนอื่น. ๆ. (2553). มจธ. กับงานบริการวิชาการ : โครงการหลวง โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ชุมชนและสังคม. มปพ.
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นางสาวอารยา ศรีบัวบาน , ภาพประกอบโดย นายศุภชัย กันเร็ว และออกแบบภาพหน้าปกโดย คุณนัสมีย์ แสงมาน
เนื้อหาฉบับเต็มวิวัฒนาการ มจธ. Click
Categories
Hashtags