พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
Published: 10 March 2025
13 views

พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ พระบรมอัฐิ หรือเรียกรวมกันได้ว่า กระดูกหรือมวลสารของพระพุทธเจ้า ด้วยการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าที่นครกุสินารานั้นมีการห่อหุ้มพระพุทธสรีระถึง 500 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นผ้าทนไฟ ที่เหลืออยู่ในห่อผ้าแล้วมีลักษณะไม่เหมือนกระดูกคนธรรมทั่วไป แต่ดูคล้ายอัญมณีคล้ายหิน คล้ายงา

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือของโรมบุนนาค ตอน เหตุที่มีลักษณะคล้ายอัญมณี ของ “พระบรมสารีริกธาตุ” กล่าวว่า เหตุที่ไม่เหมือนกระดูกคนธรรมดาทั่วไปนั้นอาจมาจากการบำเพ็ญสมณธรรมมาเป็นเวลานาน ร่างกายจึงหลั่งสารบางอย่างที่อาจทำให้มวลสารหลังถวายพระเพลิงแล้วแปรเปลี่ยนสภาพไป เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ของปาฏิหาริย์

พระธาตุที่ปรากฏกันอยู่ทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ พระธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักนิยมเรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า พระอรหันตธาตุ คือ ส่วนของร่างกายของสาวกพระพุทธเจ้าที่บรรลุธรรมขั้นสูง ซึ่งบางครั้งหลังประชุมเพลิงแล้วก็ยังไม่แปรสภาพเป็นพระธาตุในทันทีต้องรออีกระยะเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับบุญบารมี คุณลักษณะของพระธาตุในส่วนที่เป็นเนื้อหนังหรืออวัยวะภายใน ทั้งของพระบรมสารีริกธาตุและของพระอรหันตธาตุนั้นจะสามารถลอยน้ำได้แต่ต้องค่อย ๆ เอาภาชนะช้อนองค์พระธาตุไปวางไว้ในน้ำให้น้ำค่อย ๆ รองรับองค์พระธาตุ พระธาตุจะลอยปริ่มน้ำ เมื่อกดผิวน้ำเป็นแอ่งผิวน้ำกับผิวพระธาตุจะเสมอกัน แล้วจะค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามารวมกัน  

พระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุที่ปรากฏกันอยู่ทั่ว ๆ ไป และบันทึกไว้ในตำราโบราณ มีอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่

1.     คล้ายเม็ดข้าวสาร และข้าวสารหักครึ่ง

2.     คล้ายถั่วและถั่วแตก (ถั่วผ่าซีก)

3.     คล้ายงาและงาแตก

4.     คล้ายเมล็ดพันธุ์ผักกาด (เป็นเมล็ดกลม ๆ เล็ก)

ส่วนสีนั้นเท่าที่ปรากฏมีสีขาว สีชมพู สีน้ำตาล สีทอง สีเทา สีดำ สีม่วง สีแดง สีเขียวไข่นกการะเวก สีกากี สีใสตั้งแต่ใสขุ่น ๆ จนไปถึงใสเหมือนเพชร ข้อมูลลักษณะสัณฐานว่าส่วนใดเป็นจากร่างกายส่วนใดยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงใด ๆ

ภาพจากหนังสือ พระบรมสารีริกธาตุและอรหันตธาตุ หน้า 146-147 ของมูลนิธิพระบรมธาตุ ในพระสังฆาราชูปถัมภ์ ปี 2558

การบรรจุพระธาตุ

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การบรรจุพระธาตุนิยมไว้ในที่สูง ซึ่งเหตุผลในการบรรจุพระธาตุไว้ในเจดีย์นั้นเพื่อไม่ให้เสื่อมสลายไป ใช้ภาชนะที่มีความแน่น ทนทาน และนิยมบรรจุในตลับไม้จันทน์เพราะเป็นไม้ที่มีความหอม หรือบรรจุในตลับทอง เงิน นากเป็นชั้น ๆ ชั้นนอกสุดของเจดีย์นิยมทำเป็นหินอ่อนเพื่อป้องกันการพังทลาย นอกจากบรรจุไว้ในพระเจดีย์แล้ว ยังอาจบรรจุไว้บนยอดเศียรพระพุทธรูป (ควรบรรจุเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น) หรืออาจบรรจุในโบสถ์ก็ได้แต่ควรมีบุษบกรองรับอย่างเหมาะสม หากทราบว่าพระธาตุส่วนใดเป็นของพระบรมสารีริกธาตุและส่วนใดเป็นของพระอรหันตธาตุควรแยกภาชนะที่บรรจุต่างหาก อย่าเอาภาชนะที่บรรจุพระอรหันตธาตุไปวางไว้สูงกว่าภาชนะที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสำหรับการสักการะพระธาตุไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จิตน้อมที่จะนึกถึงพระคุณของทั้งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ส่วนการจะมีข้าวตอก ดอกไม้เครื่องหอมหรือไม่นั้นเป็นเพียงส่วนประกอบการบูชา (มูลนิธิพระบรมธาตุ ในพระสังฆราชูปถัมภ์, 2558 : หน้า 25)

เมื่อไม่นานมานี้ในวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีครบ 65 ปี คุณธัญญรัจน์ วิชัยคำวาณิชกูร ศิษย์เก่าภาควิชาเคมี รุ่น 4 ได้มอบถวายพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ พร้อมวัตถุมงคล ได้แก่ พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ สิงห์ 1 เชียงแสน ชุดหัวนะโม COVID 19 ช่วยชาวโลก หนังสือประวัติการสร้างหัวนะโม COVID19 และหนังสือการปลูกต้นศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา มจธ. ได้มีพิธีสักการะรับมอบโดยมีผศ. สุเมธ อังคะศิริกุล รองอธิการบดีฝ่ายบุคคล เป็นประธานในพิธี

ภาพถ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องนิทรรศการรัชกาลที่ 9

ชั้น 2 หอบรรณสารสนเทศ สำนักหอสมุด มจธ.

ภาพพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุที่ มจธ. รับมอบในวันที่ 14 ก.พ. 68

ภาพในหนังสือประวัติการสร้างหัวนะโมโควิด 2019 ย้อนยุคฯ หน้า 46

ของพุทธอาสา ปี 2563

ข้อมูลอ้างอิง

พุทธอาสา. (2563). หนังสือประวัติการสร้างหัวนะโมโควิด ๒๐๑๙ ย้อนยุค: เพื่อชาติ และชาวโลก ป้องกันเหตุร้าย ภัยร้าย โรคร้ายนานา. ม.ป.ท.

มูลนิธิพระบรมธาตุ ในพระสังฆราชูปถัมภ์. (2558). พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ. ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์.

โรม บุนนาค. (2550). มิติลี้ลับในพงศาวดาร. สยามบันทึก.

Categories

Comments
To join the comment, please sign in.
Sign in
Don’t have an account? Register
Loading comments...